การจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยโดยใช้บริบทการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านโป่งน้ำร้อนเป็นฐาน เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการสื่อสารแบบองค์รวม และทักษะชีวิตและอาชีพ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
งานวิจัยนี้จุดประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน (2) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนรู้วิชาภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน (3) ศึกษาผลของการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐานเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการสื่อสารแบบองค์รวม และทักษะชีวิตและอาชีพ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยผู้วิจัยได้วิเคราะห์วรรณกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน และสามารถสังเคราะห์ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐานได้ 6 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 นำเสนอบริบทที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ขั้นที่ 2 ทำความเข้าใจบริบท ขั้นที่ 3 ระบุปัญหาและวางแผนการค้นหาคำตอบ ขั้นที่ 4 ลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ใหม่ ขั้นที่ 5 ประยุกต์ความรู้ในบริบทใหม่ และขั้นที่ 6 สรุปความรู้และสะท้อนคิด ผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ ครูวิชาภาษาไทยที่สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 26 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 27 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ 1. แบบสอบถามสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน 2.แบบสอบถามสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนรู้วิชาภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน 3. แบบบันทึกการสนทนากลุ่มครูและนักเรียน 4. แบบประเมินทักษะการสื่อสารแบบองค์รวม 6. แบบสอบถามทักษะชีวิตและอาชีพของนักเรียน และผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
(1) สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน มีระดับความคิดเห็น ด้านสภาพปัจจุบันอยู่ในระดับมาก (µ = 4.28, =0.661) ด้านปัญหาอยู่ในระดับมาก (µ = 4.26, =0.747) และด้านความต้องการอยู่ในระดับมาก (µ = 4.39, =0.658)
(2) สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนรู้วิชาภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน มีระดับความคิดเห็น ด้านสภาพปัจจุบันอยู่ในระดับมาก (µ =4.33 , =0.693) ด้านปัญหาอยู่ในระดับมาก (µ =4.32 , =0.725) และด้านความต้องการอยู่ในระดับมาก (µ =4.49 , =0.524)
(3) การจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐานมีค่า IOC ในด้านความสอดคล้อง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความมีประโยชน์ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
(4) การจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยแบบบริบทเป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ E1/E2 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
(5) การจัดการเรียนรู้แบบบริบทเป็นฐาน สามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารแบบองค์รวม และทักษะชีวิตและอาชีพ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้สูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในทุกแผนการจัดการเรียนรู้
Keywords: Thai language, Ecotourism Context-based Learning, Ethnic Groups, Holistic Communication Skill, Life and Career Skills