รายงานนวัตกรรมการศึกษา
ชื่อผลงาน การพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
ของครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๑
โดยใช้รูปแบบ UDON 1 Supervisory Model
เจ้าของผลงาน ว่าที่ร.ต.หญิงกัลยกร พรมนาไร่
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต ๑
๑. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ มาตรา ๒๒ การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคน
มีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ นโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาผู้เรียนอย่างมีคุณภาพด้วยการปรับหลักสูตรการวัดและประเมินผลที่เหมาะสม พัฒนาคุณภาพกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการปฏิบัติจริง (Active Learning) เน้นทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหาและคิดสร้างสรรค์ และการเตรียมนักเรียนให้พร้อมกับการมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเรื่องสำคัญ กระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีพของสังคมอย่างทั่วถึง ครูจึงต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในสังคมโลกปัจจุบัน และครูจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน
วิธีการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เทคโนโลยีและการเรียนรู้ของนักเรียน โดยผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จนเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ครูต้องมีการปรับการจัดการเรียนรู้โดยเน้นกิจกรรมที่เป็นแบบ Active Learning (AL) ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบเน้นพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนประยุกต์ใช้ทักษะและเชื่อมโยงองค์ความรู้นำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาหรือประกอบอาชีพในอนาคต นั้น
หลักการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการนำเอาวิธีการสอน เทคนิคการสอนที่หลากหลายมาใช้ออกแบบแผนการสอนและกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับผู้สอน การที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ หรือ การลงมือทำนำซึ่ง ความรู้ ที่เกิดขึ้นก็เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ กระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องได้มีโอกาสลงมือกระทำมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว ต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้การเรียนรู้โดยการอ่าน การเขียน การโต้ตอบ และการวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้งให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า