ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาล่อม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่
ผู้ประเมิน : นายสุภาพ ดาษฎาจันทร์ ผู้อำนวยการชำนาญการ
โรงเรียนบ้านเขาล่อม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่
ปีที่ดำเนินงาน : 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาล่อม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ มีความมุ่งหมายของการรายงานโครงการเพื่อ 1. ประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาล่อม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ โดยประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) ด้านกระบวนการ (Process evaluation) และด้านผลผลิต (Product evaluation) 2. ประเมินความพึงพอใจของผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาล่อม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำแนกเป็น ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวนรวม 102 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลมี 2 ฉบับ เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมินโครงการพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์การประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาล่อม ตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมมีระดับความคิดเห็นมาก มีค่าเฉลี่ย 4.38 เมื่อสรุปเป็นรายด้าน พบว่า ด้านกระบวนการดำเนินโครงการ มีระดับความคิดเห็นมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.54 รองลงมา คือ ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ มีค่าเฉลี่ย 4.46 ด้านผลผลิตของโครงการ มีค่าเฉลี่ย 4.33 ด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ มีค่าเฉลี่ย 4.18 ตามลำดับ ทุกด้านมีระดับความคิดเห็นมาก
2. ผลการสอบถามเพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาล่อม โดยภาพรวมมีระดับความพึงพอใจมาก มีค่าเฉลี่ย 4.31
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการประเมินไปใช้
ผู้บริหารควรให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนรวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการดำเนินโครงการในแต่ละกิจกรรมรวมทั้งจัดให้มีกรอบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้ความรู้ และเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างละเอียดในแต่ละกิจกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ส่งผลสำเร็จของโครงการ
2.2 ควรประเมินผลผลิตของโครงการในมิติเชิงปริมาณและคุณภาพ และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แสดงถึงผลสำเร็จของโครงการ