ความเป็นมาและปัญหา
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนผู้สอนจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างหลากหลาย และมีรูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนเพื่อสู่การวัดประเมินผลตามสภาพจริง จากหลักการและเหตุผล ดังกล่าว ผู้ศึกษาซึ่งสอนวิชาสังคมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านค้อ . พบว่า นักเรียนโดยส่วนรวม ร้อยละ 80 ยังไม่เข้าใจวิธีการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง และวิธีการค้นคว้าด้วยโครงงานเป็นวิธีการที่ลงทุนมากยุ่งยาก ใช้เวลาศึกษานาน และเป็นโครงการที่เกิดจากความคิดของครูเป็นส่วนมาก ทำเพื่อประกวดแข่งขันที่ฝึกให้นักเรียนที่เป็นตัวแทน 1-3 ส่วนนักเรียนที่เหลือไม่ทราบกระบวนการวิธีการศึกษาค้นคว้าเลย และเป็นการสอนในช่วงสถานการณ์โรค covid 19 ระบาด ไม่สามารถเรียนรูปแบบปกติได้ จึงส่งเสริมผู้เรียน ที่เรียนด้วยระบบออนไลน์ ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จากปัญหาดังกล่าว ผู้ศึกษาจึงคิดวิธีการเรียนรู้เพื่อค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง อันจะส่งผลให้ครูและผู้เรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ซึ่งนำไปสู่แนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ สู่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระได้ ในรูปแบบการสอนด้วยระบบออนไลน์
2. สนับสนุนการค้นคว้าหาความรู้ของผู้เรียนอันจะเป็นพื้นฐานสู่การเป็นนักวิจัยของผู้เรียน
3. พัฒนาการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูปสู่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
วิธีการศึกษา
ผู้ศึกษาได้ออกแบบวิธีการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยการทำเป็นแบบฟอร์ม งานวิจัยนักเรียน ซึ่งผู้เรียนสามารถตั้งปัญหาที่สงสัยได้เอง จากปัญหาทั้งในเนื้อหาสาระ และจากปัญหาที่เกิดจากความสนใจ เมื่อได้ปัญหาผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ พร้อมกับมาสรุป เป็นองค์ความรู้ต่อไป
กรอบแนวคิด
การพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยการวิจัยของนักเรียน ตามแนวปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นการศึกษา ที่ผู้ศึกษากำหนดรูปแบบการวิจัยของผู้เรียนขึ้นใช้เอง ในวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านค้อ ในรายวิชาอื่นสามารถนำไปใช้หรือไปประยุกต์ใช้ได้
ประชากร
การศึกษาครั้งนี้ ใช้กับประชากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านค้อ ที่เรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประจำปีการศึกษา 2564
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาการวิจัยของนักเรียน โดยครูผู้สอนตรวจสอบการศึกษาค้นคว้า ว่าปัญหาที่ผู้เรียนเกิดความสนใจ สงสัย ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้มาอธิบายปัญหาอย่างไร สอดคล้องกับปัญหาที่ตั้งไว้หรือไม่ ได้ข้อสรุปว่าอย่างไร นำผลการศึกษามาตั้งเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อวัดประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยผู้สอนกำหนดร่วมกับผู้เรียนว่า ในหนึ่งภาคเรียนค้นคว้าหาความรู้ หรือ วิจัยนักเรียนได้ ให้คะแนนตามเกณฑ์ ดังนี้
ค้นคว้าหาความรู้หรือวิจัยของนักเรียน 16 เรื่อง ขึ้นไป ให้คะแนน ระดับ 4 ดีมาก
ค้นคว้าหาความรู้หรือวิจัยของนักเรียน 10-15 เรื่อง ให้คะแนนระดับ 3 ดี
ค้นคว้าหาความรู้หรือวิจัยของนักเรียน 6-9 เรื่อง ให้คะแนน ระดับ 2 ปานกลาง
ค้นคว้าหาความรู้หรือวิจัยของนักเรียน 1-5 เรื่อง ให้คะแนน ระดับ 1 น้อย
สรุปผลการศึกษา
จากการศึกษาวิธีการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองหรือการวิจัยของนักเรียน ในภาคเรียนที่ 2/2564 พบว่า นักเรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองหรือการวิจัยในชั้นเรียน โดยภาพรวมทั้งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อยู่ในเกณฑ์ ปานกลาง
อภิปรายผล
จากการศึกษาค้นคว้า วิจัยของนักเรียน ส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งเรื่องตามสาระการเรียนรู้ และเรื่องที่เกิดจากความสนใจ อย่างหลากหลาย ไม่จำกัดความสนใจ สงสัย เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ถาวร อันจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากการท่องจำเพียงอย่างเดียว มาเป็นการค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับแนวปฏิรูปการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สนองต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ด้วย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้รู้จักการแสวงหา ค้นหาองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
2. ครูและผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน คือได้องค์ความรู้จากผู้เรียนที่ไปศึกษาค้นคว้ามานำเสนอ หน้าชั้นเรียน
3. เป็นพื้นฐานให้ผู้เรียนได้รู้จักการวิจัยขั้นต้น อันจะส่งผลให้เป็นนักวิจัยในอนาคตสู่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 24(5) และมาตรา 30
4. ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณค่า ในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์