การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนเคียนซาพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร ปีการศึกษา 2564 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) ประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ของโครงการ 2) ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการ 3) ประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการ และ 4) ประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 689 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 4 คน ครู จำนวน 69 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 306 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 306 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ การหาค่าความสอดคล้อง การหาค่าความเชื่อมั่น
เป็นการวิเคราะห์เพื่อหาคุณภาพของเครื่องมือ ส่วนสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนเคียนซาพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร ปีการศึกษา 2564 พบว่า
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ของโครงการ พบว่า ผลการดำเนินโครงการด้านสภาพแวดล้อมของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดเมื่อพิจารณาแต่ละตัวชี้วัด พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 3 ตัวชี้วัด และอยู่ในระดับมาก 1 ตัวชี้วัด
โดยความต้องการจำเป็นของการจัดทำโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ความเหมาะสมของกิจกรรมของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และความสอดคล้องกับนโยบายต้นสังกัด/โรงเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าด้านอื่น ๆ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการ พบว่า ผลการดำเนินโครงการด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
เมื่อพิจารณาแต่ละตัวชี้วัดพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 1 ตัวชี้วัด และอยู่ในระดับมาก 3 ตัวชี้วัด
โดยความพร้อมของบุคลากร มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ความเหมาะสมของการบริหารจัดการ ความเหมาะสมของงบประมาณ และความเหมาะสมของสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าด้านอื่น ๆ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการ พบว่า ผลการดำเนินโครงการด้านกระบวนการของโครงการอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
เมื่อพิจารณาแต่ละตัวชี้วัดพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 3 ตัวชี้วัด และอยู่ในระดับมาก 2 ตัวชี้วัด
โดยการปฏิบัติ (Do) มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ กระบวนการขั้นตอนโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การวางแผนดำเนินการ (Plan) การตรวจสอบ ทบทวน และประเมิน (Check) และการปรับปรุงแก้ไข/พัฒนา (Act) มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าด้านอื่น ๆ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการ พบว่า ผลการดำเนินโครงการด้านผลผลิตของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
เมื่อพิจารณาแต่ละตัวชี้วัดพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทั้ง 2 ตัวชี้วัด โดยความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ความสำเร็จของโครงการ
5. ผลการประเมินโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมิน
ที่กำหนด โดยได้คะแนน 96.20 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดของการประเมินทั้ง 4 ด้าน จำนวน 15 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 15 ตัวชี้วัด
มีรายละเอียด ดังนี้
ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด 9 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ความจำเป็นของโครงการ 2) ความเหมาะสมและเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ 3) ความเหมาะสมของกิจกรรมของโครงการ 4) ความพร้อมของบุคลากร 5) กระบวนการขั้นตอนโครงการ 6) การวางแผนดำเนินการ (Plan) 7) การปฏิบัติ (Do) 8) ความสำเร็จของโครงการ 9) ความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อโครงการ
ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ความสอดคล้องกับนโยบายต้นสังกัด/โรงเรียน 2) ความเหมาะสมของสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ 3) ความเหมาะสมของงบประมาณ 4) ความเหมาะสมของการบริหารจัดการ 5) การตรวจสอบ ทบทวน และประเมิน (Check) 6) การปรับปรุงแก้ไข/พัฒนา (Act)