ผลงาน นวัตกรรม หรือแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices)
1. ชื่อผลงาน กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์
การรู้ค่าจำนวน 1-10 ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2
2. ชื่อผู้เสนอผลงาน นางจินตนา ใจมะโน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2
โทรศัพท์ 053-681525 โทรศัพท์มือถือ 089-5544368
3. ความสำคัญของผลงาน นวัตกรรม หรือแนวปฏิบัติที่นำเสนอ
เด็กอายุ 3 - 6 ปี เป็นวัยที่ร่างกายและสมองของเด็กกำลังเจริญเติบโต โดยเฉพาะทางด้านสมองจะพัฒนาและเติบโตเร็วที่สุด เด็กวัยนี้ควรมีโอกาสเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้สำรวจ เล่น ทดลอง คิดแก้ปัญหาและค้นพบด้วยตนเอง ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2560 ได้กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยไว้ คือ ให้เด็กเจริญเติบโตตามวัย มีสุขนิสัยที่ดี กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรงใช้ได้คล่องแคล่วประสานสัมพันธ์ มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว มีคุณธรรม จริยธรรมและมีจิตใจที่ดีงาม มีทักษะชีวิตและปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมความเป็นไทย อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย มีความสามารถในการคิดที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้เหมาะสมกับวัย ซึ่งสอดคล้องกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2546:5) ที่ได้กล่าวไว้ว่า ในการจัดประสบการณ์ให้เด็กอายุ 3 - 5 ปี จะต้องยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูควบคู่กับการให้การศึกษา โดยต้องคำนึงถึงความสนใจและความต้องการของเด็กทุกคน เพื่อให้เด็กพัฒนาทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างสมดุล โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลาย บูรณาการผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เป็นประสบการณ์ตรง ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพ ดังนั้นเด็กในช่วงอายุ 3-6 ปี จึงเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ประสบการณ์ที่เด็กได้รับในช่วงวัยนี้ จึงมีอิทธิพลมากต่อการเสริมสร้างฐานความพร้อมสำหรับการพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เพราะเด็กวัยนี้สามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ปัจจุบันนี้ ในชีวิตประจำวันของเราจะต้องเกี่ยวข้องกับตัวเลขดังนั้น เด็กปฐมวัยควรจะเริ่มเรียนรู้ตัวเลข คณิตศาสตร์จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของเด็ก เพราะในการเล่น การพูดคุยของเด็กมักจะมีเรื่องคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข จำนวน การเปรียบเทียบ การวัด ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมทางด้านคณิตศาสตร์ให้กับเด็กในขณะที่อยู่โรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับ สุนีย์ เพียรซ้าย (2540:1) ที่
กล่าวว่า เด็กปฐมวัย จำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่อการศึกษาในขั้นสูงขึ้น ดังนั้นในการจัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อมทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากครูจะจัดประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเด็กแล้ว ยังต้องอาศัยการจัดกิจกรรมที่มีการวางแผน และเตรียมการอย่างดี จากครูผู้สอนด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ได้ศึกษาค้นคว้า แก้ปัญหาการเรียนรู้ และพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์มีทักษะและมีความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ที่จะเป็นรากฐานสำหรับการศึกษาที่สูงขึ้น และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป (สายพิณ ใจยวน , 2549 :2) ซึ่งสอดคล้องกับนิตยา ประพฤติกิจ (2541: 3-4) ที่ได้กล่าวไว้ว่า โดยทั่วไปการสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น มีจุดหมายเพื่อการพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เช่น การบวกหรือการเพิ่ม และการลบหรือการลด เพื่อให้เด็กปฐมวัยรู้จัก และให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิดในการหาคำตอบ เพื่อให้เด็กปฐมวัยรู้จัก และให้เด็กได้ใช้กระบวนการคิดในการหาคำตอบ เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เช่น รู้จักและเข้าใจคำศัพท์ และสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ขั้นต้น เพื่อให้เด็กฝึกฝนทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน เช่น การนับ การวัด การจับคู่การจัดประเภท การเปรียบเทียบ และการจัดลำดับ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ค้นคว้า หาคำตอบด้วยตนเอง และส่งเสริมให้เด็กมีความรู้และอยากค้นคว้าทดลอง ความพร้อมทางด้านคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาของเด็กปฐมวัยซึ่งหมายถึง ประสบการณ์หรือความรู้เบื้องต้น ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์เด็กควรจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของการเปรียบเทียบ การเรียงลำดับ การวัด การจับคู่หนึ่งต่อหนึ่ง การนับ ก่อนที่เด็กจะเรียนเรื่องตัวเลขและวิธีคิดคำนวณ ประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์เปรียบเสมือนบันไดขั้นต้น ที่ช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมที่จะก้าวไปสู่ประสบการณ์พื้นฐานต่อไป ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์สามารถสอดแทรกได้ทุกกิจกรรมกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเป็นแนวทางหนึ่ง ในการส่งเสริมให้เด็กเกิดทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เนื่องจากเด็กปฐมวัยชอบเคลื่อนไหว ชอบเสียงเพลงและจังหวะที่สนุกสนาน ตอบสนองความต้องการของเด็กไม่ว่าจะเป็นความอยากรู้อยากเห็น การยอมรับ ความเข้าใจ และการรับรู้ หากครูสามารถจัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีความสนใจยิ่งขึ้น ก็จะทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป
จากการสังเกตเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร พบว่า เด็กชอบกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ชอบเสียงเพลงดนตรี ร่วมปฏิบัติกิจกรรมด้วยความสนใจและกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรมทุกครั้ง เนื่องจากการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะมีวิธีการสร้างสรรค์และกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจในกิจกรรมได้มากมาย ได้แก่ การสร้างข้อตกลงในการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวตามทิศทาง การเคลื่อนไหวตามสัญญาณ การเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์ การเคลื่อนไหวตามผู้นำผู้ตาม และจากการประเมินผลการเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ จำนวน 1-10 พบว่า เด็กจะท่องจำตัวเลขโดยการท่องแบบปากเปล่า แต่เด็กจะไม่รู้ค่าของตัวเลขที่ท่องและจำนวนนับได้ จากความสำคัญของคณิตศาสตร์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ และสภาพปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้ศึกษามีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน 1-10 โดยใช้ชุดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์ สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ผ่าน
กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์ ด้วยความสนใจ สนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ในการรู้ค่าจำนวน 1-10 โดยผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
4. จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
1. เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์การรู้ค่าจำนวน 1-10 ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2
5. กระบวนการผลิตผลงาน หรือขั้นตอนการดำเนินงาน
ผู้ศึกษาได้นำวงจรเดมมิ่ง (Deming Circle)หรือ PDCA มาวางแผนเพื่อจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมโดยมีการวางแผนการจัดกิจกรรม ดังนี้
Plan (วางแผน)
1. ศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560
2. ศึกษาหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร
3. ศึกษาคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี
4. ศึกษาเอกสารกรอบมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย สสวท.
5. ศึกษาทฤษฎีของดีนส์ นักจิตวิทยา การจัดการเรียนการสอนที่เริ่มจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหานามธรรม
6. ศึกษาและวิเคราะห์นักเรียนรายบุคคล ทำให้ทราบถึงพื้นฐานความรู้ ความสนใจ/ความต้องการ/ ความถนัดของนักเรียน เป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นความใฝ่เรียนของนักเรียน
7. วางแผนการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์แต่ละหน่วยการเรียนรู้ จำนวน 4 หน่วยการเรียนรู้ ( หน่วยอาหารดีมีประโยชน์ หน่วยฝน หน่วยสัตว์น่ารัก หน่วยคมนาคม)
Do (ปฏิบัติตามแผน)
1. จัดเตรียมชุดสื่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องหน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
1.1 แผนการจัดประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน 1-10
โดยใช้กิจกรรมเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 4 หน่วยการเรียนรู้ คือหน่วยอาหารดีมีประโยชน์ หน่วยฝน หน่วยสัตว์น่ารัก หน่วยคมนาคม
1.2 สื่อประกอบการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์การรู้ค่าจำนวน 1-10 จำนวน 4 ชุดกิจกรรม ดังนี้
1.2.1 สื่อการจัดประสบการณ์กิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์การรู้ค่าจำนวน 1-3 หน่วย อาหารดีมีประโยชน์ ประกอบด้วย บัตรจำนวน 1-3 , ที่คาดศีรษะรูปอาหารดีมีประโยชน์ เครื่องเคาะจังหวะ , ชาร์ทเพลงอาหารหลักห้าหมู่
1.2.2 สื่อการจัดประสบการณ์กิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์การรู้ค่าจำนวน 4-6 หน่วย ฝน ประกอบด้วย บัตรจำนวน 4- 6 , ร่ม, เครื่องเคาะจังหวะ , ชาร์ทเพลงฝนตกกางร่ม
1.2.3 สื่อการจัดประสบการณ์กิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์การรู้ค่าจำนวน 7-10 หน่วย สัตว์น่ารัก ประกอบด้วย บัตรจำนวน 7-10 , หมวกสัตว์น่ารัก รูปไก่ รูปช้าง รูปแกะ รูปกบ, เครื่องเคาะจังหวะ , ชาร์ทเพลงแม่ช้าง ลูกช้าง เพลงกบน้อย เพลงลูกแพะลูกแกะ เพลงแม่ไก่กระต๊าก
1.2.4 สื่อการจัดประสบการณ์กิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์การรู้ค่าจำนวน 1-10 หน่วย คมนาคม ประกอบด้วย บัตรจำนวน 1-10 , ห่วงวงกลม , เครื่องเคาะจังหวะ ,ริบบิ้น, เพลงยานพาหนะ , เพลงรถไฟ
1.3 ชุดประเมินการเรียนรู้เรื่องจำนวนและตัวเลข 1-10 จำนวน 4 ชุดกิจกรรม ดังนี้
1.3.1 ชุดนับจำนวนแครอท 1-3
1.3.2 ชุดวัฏจักรการเกิดฝน 4-6
1.3.3 ชุดหนังสือนับจำนวนลูกสัตว์ 7-10
1.3.4 ชุดนับจำนวนยานพาหนะ 1-10
1.4 จัดทำแบบบันทึกพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ การรู้ค่าจำนวน 1-10
2. จัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์ตามหน่วยการเรียนรู้ 4 หน่วยการเรียนรู้ ตามตารางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้วางแผนไว้ ดังนี้
2.1.1 สัปดาห์ที่ 1 ( 28 - 2 กรกฎาคม 2564 ) หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 หน่วยอาหารดีมีประโยชน์
2.1.2 สัปดาห์ที่ 2 ( 5- 9 กรกฎาคม 2564 ) หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 หน่วย ฝน
2.1.3 สัปดาห์ที่ 3 ( 12-16 กรกฎาคม 2564) หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 หน่วย สัตว์น่ารัก
2.1.4 สัปดาห์ที่ 4 ( 19 - 23 สิงหาคม 2564) หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 หน่วย คมนาคม
Check (ตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน)
ประเมินผลเด็กตามสภาพจริงตามศักยภาพของผู้เรียน โดยมีแบบประเมินต่าง ๆ ดังนี้
1. แบบสังเกตพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ การรู้ค่าจำนวน 1-10
2. ประเมินจากชุดประเมินการเรียนรู้เรื่องจำนวนและตัวเลข 1-10 จำนวน 4 ชุดกิจกรรม
Act (ปรับปรุงแก้ไข)
1.สรุปผลการประเมินเป็นรายบุคคล
2.นำผลการประเมินมาวิเคราะห์เพื่อปรับกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งต่อไป
6.ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับ
ผู้ศึกษาได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร โดยมีผลการศึกษา ดังนี้
1. ความพร้อมทางด้านคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน 1-10 ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีค่าคะแนนหลังการจัดกิจกรรมสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรม แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์สามารถพัฒนาความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวนของเด็กปฐมวัยได้ดีขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยก่อนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์ ร้อยละ 71.60 ค่าเฉลี่ยหลังจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์ ร้อยละ 91.20 โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.60
5.ปัจจัยความสำเร็จ
1.ผู้บริหารเป็นผู้มีวิสัยทัศน์และให้การสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรม
2.ครูมีความตั้งใจและเสียสละในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
3.โรงเรียนมีงบประมาณให้การสนับสนุน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
4.บุคลากรครูปฐมวัยในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อชุดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์
5.ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการส่งเสริมด้านการเตรียมความพร้อมคณิตศาสตร์ โดยให้เด็กทบทวนความรู้ผ่านอนุบาลสารสัมพันธ์ ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้
6.นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ให้ความสนใจในกิจกรรมและร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมด้วยความสนใจ กระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรม
6.บทเรียนที่ได้รับ
ผู้ศึกษาได้ศึกษาและจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์ จึงส่งผลให้ได้รูปแบบการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเชิงสร้างสรรค์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน1-10 สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมในปีการศึกษาต่อไป