ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้การนิเทศแบบสอนแนะ (Coaching) โรงเรียนคำม่วง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์
ผู้วิจัย นายสุขสันต์ สารบรรณ์
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนายการชำนาญการ
สังกัด โรงเรียนคำม่วง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์
ปีที่วิจัย 2563 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนคำม่วง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ และ 2) เพื่อศึกษาผลที่เกิดจากการพัฒนาครูโรงเรียนคำม่วง ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้การนิเทศแบบสอนแนะ (Coaching) โดยนำหลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของเคมมิสและแม็กแท็กการ์ท (Kemmis and McTaggart. 1988 11-15) ตามขั้นตอน P-A-O-R ซึ่งเป็นรูปแบบในการดำเนินการพัฒนา มี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นวางแผน (Planning : P) ขั้นปฏิบัติ (Action : A) ขั้นสังเกต (Observation : O) และ ขั้นสะท้อนผล (Reflection : R ) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และการนิเทศแบบสอบแนะ (Coaching) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 10 คน ประกอบด้วย ผู้วิจัยในฐานะรองผู้อำนวยการ กลุ่มบริหารวิชาการ หัวหน้ากลุ่มบริหารวิชาการ และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 8 คน กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา ได้แก่ ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนคำม่วง ปีการศึกษา 2563 2564 กลุ่มสาระการเรียนรู้ละ 2 คน รวมทั้งสิ้น 16 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบทดสอบแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 2) แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 2 ฉบับ 3) แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกจำนวน 1 ฉบับ และ 4) แบบประเมินการจัดการเรียนรู้เชิงรุก จำนวน 1 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า (Triangulation) แล้วนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ คือ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัจจุบันปัญหาก่อนดำเนินการพัฒนา พบว่า ครูผู้สอนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และแนวคิดพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ขาดความเข้าใจในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และขาดทักษะในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ทำให้เกิดปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดไว้
2. การดำเนินการพัฒนาครูเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ตามกระบวนการวิจัย เชิงปฏิบัติการ จำนวน 2 วงรอบ โดยใช้กลยุทธ์การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้ครูมีความรู้ความเข้าใจ ฝึกทักษะการออกแบบการจัดการเรียนรู้และการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก แล้วจัดกิจกรรมการนิเทศแบบสอนแนะ (Coaching) เพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือครูในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และประเมินผลการจัดการเรียนรู้เชิงรุกจนการดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์การวิจัยที่ตั้งไว้
3. ผลการพัฒนาครูเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โรงเรียนคำม่วง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์ ปรากฏดังนี้
3.1 ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สูงขึ้น โดยมีคะแนนหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สูงกว่าร้อยละ 70 ทุกคน โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเท่ากับ 7.56 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 37.81 และมีคะแนนหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เฉลี่ยเท่ากับ 16.94 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 84.69
3.2 ครูสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และลงมือเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีผลการประเมินคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3.3 ครูสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีผลการประเมินคุณภาพของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลที่เกิดจากการพัฒนาครูเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ส่งผลต่อคุณภาพของครู คุณภาพของผู้เรียน และคุณภาพของโรงเรียน โดยได้รับคำยกย่องชมเชยจากหน่วยงานต่าง ๆ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนโดยภาพรวมสูงขึ้น