ชื่อเรื่อง รายงานผลการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๑ จังหวัดยะลา
ชื่อผู้รายงาน นางสาวสายใจ คลังข้อง ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๑ จังหวัดยะลา
สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
ปีที่ศึกษา ๒๕๖๔
บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการนิเทศภายในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๑ จังหวัดยะลา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) โดย แดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม (Daneil L.Stufflebeam,๑๙๗๑) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อม/บริบทของโครงการ(Context) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ(Input) ประเมินกระบวนการดำเนินโครงการ(process) และประเมินผลผลิตของโครงการ(product) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ มี ๒ กลุ่ม ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๑ จังหวัดยะลา จำนวน ๘๕ คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (ที่ไม่ซ้ำกับตัวแทนครูและผู้อำนวยการโรงเรียน) จำนวน ๑๑ คน รวมจำนวน ๙๖ คน ใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ตามวิธีของ พิสณุ ฟองศรี (พิสณุ ฟองศรี. ๒๕๕๐:๒๑๓.) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ มีจำนวน ๕ ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ ๑ แบบสอบถามความคิดเห็นด้านสภาวะแวดล้อม/บริบทเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของโครงการและความเป็นไปได้ของโครงการ ฉบับที่ ๒ แบบสอบถามความคิดเห็นด้านปัจจัยนำเข้า เกี่ยวกับระดับความเหมาะสมของบุคลากรที่รับผิดชอบมีความรู้ความเข้าใจ ความสามารถและมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ความเพียงพอของงบประมาณ ความเพียงพอของวัสดุ อุปกรณ์ในการดำเนินงานและเวลา ฉบับที่ ๓ แบบสอบถามความคิดเห็นด้านกระบวนการ เกี่ยวกับการวางแผนกิจกรรมการดำเนินงานตามแผน การตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผน และการปรับปรุงแก้ไข ฉบับที่ ๔ แบบสอบถามความคิดเห็นด้านผลผลิต เกี่ยวกับความสามารถในการจัดการโครงการ และฉบับที่ ๕ แบบสอบถามความคิดเห็นด้านผลผลิต เกี่ยวกับความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นแบบสอบถามชนิดมาตรประมาณค่า ๕ ระดับ (Rating Scale) วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา ค่าเฉลี่ยร้อยละ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจากประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ผลการประเมินพบว่า
๑. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม(Context) ภาพรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด (x̄=๔.๕๑,S.D.=.๔๓๓) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับ ดังนี้ หลักการและเหตุผลสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน รองลงมาคือ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการมีความเป็นไปได้ และโครงการเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการประจำปี ส่วนรายการที่มีค่าต่ำสุดคือจัดบรรยากาศภายในสถานศึกษาให้เอื้อต่อการดำเนินโครงการ
๒. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า(Input) ภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄=๔.๓๘,S.D.=.๔๕๕)เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อโดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับ ดังนี้ งบประมาณมีความพียงพอต่อการใช้ดำเนินงานโครงการ รองลงมา อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสม ส่วนรายการที่มีค่าต่ำสุดคือบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการมีจำนวนที่เหมาะสมและเพียงพอ
๓. ผลการประเมินด้านกระบวนการ(Process) ภาพรวมอยู่ในระดับมาก(x̄=๔.๔๒,S.D.=.๔๕๘) และเมื่อพิจารณาเป็นรายขั้นตอน พบว่าทุกขั้นตอนมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยขั้นตอนการดำเนินการ (D) และขั้นตอนการติดตามและประเมินผล (C) มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือขั้นตอนการวางแผน (P) และขั้นตอนการนำผลการประเมินมาปรับปรุง/พัฒนา (A) ตามลำดับ
๔. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product) ของโครงการ แบ่งออกเป็น ๒ รายการ ดังนี้
๔.๑ ความเหมาะสมด้านผลผลิตของการจัดการของโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก(x̄=๔.๓๗,S.D.=.๔๗๗)เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ารายการที่มีค่าสูงสุดคือ ครูจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ รองลงมาคือ สถานศึกษามีการจัดการความรู้ในการนิเทศภายในอย่างเป็นระบบ ส่วนรายการที่มีค่าต่ำสุดคือ นักเรียนมีความสนใจและมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น
๔.๒ ความเหมาะสมด้านผลผลิตของระดับความพึงพอใจของครูต่อโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก(x̄=๔.๔๕,S.D.=.๔๘๒) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่ารายการที่มีค่าสูงสุดคือ บรรยากาศการนิเทศเป็นกันเอง รองลงมาคือ กิจกรรมช่วยพัฒนาตนเองมากที่สุด ส่วนรายการที่มีค่าต่ำสุดคือนักเรียนมีพัฒนาการทางด้านการเรียนดีขึ้น