บทคัดย่อ
การประเมินโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) โรงเรียนบ้านโนนเสถียร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อประเมินโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านโนนเสถียรในภาพรวมและจำแนกรายด้าน 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านบริบท (Context) (2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) (3) ด้านกระบวนการ (Process) และ (4) ด้านผลผลิต (Output) 2. เพื่อประเมินระดับความคิดเห็นที่มีต่อคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านโนนเสถียร ในภาพรวมและจำแนกรายด้าน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านคุณภาพของผู้เรียน (2) ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ (3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารและครูผู้สอน จำนวน 25 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 143 คน รวม 181 คน โดยการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างจากตารางสำเร็จรูปของ Krejcie and Morgan (1970 : 607-610) และการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling Technique) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ชนิด 5 ระดับตามวิธีของ Likert Scale ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 แบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) โรงเรียนบ้านโนนเสถียร ตอนที่ 3 ความคิดเห็นที่มีต่อคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านโนนเสถียร และตอนที่ 4 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ (frequency) ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (x̄) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการประเมินพบว่า
1.การประเมินโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) โรงเรียนบ้านโนนเสถียร โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยด้านกระบวนการ มีระดับการปฏิบัติมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านบริบท และด้านผลผลิต ตามลำดับ สามารถสรุปเป็นรายด้านได้ ดังนี้
1.1 ด้านบริบท (Context Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า สถานศึกษามีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาได้อย่างชัดเจนมากที่สุด รองลงมาคือวัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการมีประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานและมีประโยชน์ต่อการพัฒนานักเรียน ตามลำดับ
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า ระยะเวลาในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือครูและบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการให้ความร่วมมือกับโครงการเป็นอย่างดี และสถานศึกษามีการประชุมชี้แจงเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตามลำดับ
1.3 ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า สถานศึกษามีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงานการประกันคุณภาพมีความเหมาะสมเท่ากัน โดยบุคลากรทุกฝ่ายได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงแผนพัฒนาการศึกษา และมีการกำหนดเป้าหมายของแต่ละมาตรฐานของการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาได้อย่างเหมาะสม ตามลำดับ
1.4 ด้านผลผลิต (Product Evaluation) พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า สถานศึกษามีการรายงานผลการประเมินตนเองต่อหน่วยงานต้นสังกัด สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อสิ้นปีการศึกษามากที่สุด รองลงมาคือสถานศึกษามีการประกาศมาตรฐานการศึกษาและค่าเป้าหมายความสำเร็จ ให้กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกรับทราบ และสถานศึกษาดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและนโยบายการศึกษา ตามลำดับ
2. ระดับความคิดเห็นที่มีต่อคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านโนนเสถียร โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการมีคุณภาพมากที่สุด รองลงมาคือด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านคุณภาพผู้เรียน ตามลำดับ สามารถสรุปเป็นรายด้านได้ ดังนี้
2.1 ด้านคุณภาพผู้เรียน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่าความสามารถในการอ่าน การเขียน การสื่อสารและการคิดคำนวณตามเกณฑ์ของแต่ละระดับชั้นมากที่สุด รองลงมาคือมีความภูมิใจในท้องถิ่นและความเป็นไทย และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามลำดับ
2.2 ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า โรงเรียนมีเป้าหมายวิสัยทัศน์และพันธกิจที่สถานศึกษากำหนดชัดเจนมากที่สุด รองลงมาคือมีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และมีการจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ ตามลำดับ
2.3 ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกเป็นรายการ พบว่า มีการใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ และแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุด รองลงมาคือมีการตรวจสอบและประเมินผู้เรียนอย่างเป็นระบบ และนำผลมาพัฒนาผู้เรียน และมีการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ ตามลำดับ