ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย
ผู้วิจัย นางนิภาดา มุกดาดี
หน่วยงาน โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย 2) เพื่อพัฒนากระบวนการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย 3) เพื่อประเมินผลการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหาและความต้องการ ผู้ให้ข้อมูล คือ 1) ผู้ทรงคุณวุฒิในการสัมภาษณ์ จำนวน 3 คน 2) ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 24 คน สำหรับการสนทนากลุ่ม ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบวิเคราะห์เอกสาร 2) แบบสัมภาษณ์ และ 3) แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนากระบวนการพัฒนาครู ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกระบวนการพัฒนาครู จำนวน
7 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกระบวนการพัฒนาครู ขั้นตอนที่ 3 ประเมิน
ผลการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 กลุ่มตัวอย่าง คือ 1) ครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 24 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) 2) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 126 คน ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 2) แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบประเมินพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อการพัฒนาครูฯ และ
5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Wilcoxon Signed Rank Test และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย มีดังนี้ 1) ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาครู แนวคิดเกี่ยวกับชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 2) สภาพปัญหาในการจัดการเรียนรู้ พบว่า 2.1) การจัดการเรียนรู้ของครูส่วนใหญ่ เน้นการป้อนเนื้อหาให้ผู้เรียน ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบบรรยายและการสาธิตเป็นหลัก ขาดการส่งเสริมให้นักเรียนฝึกทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา 2.2) สื่อการเรียนรู้ไม่เพียงพอและไม่มีความหลากหลาย 2.3) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ครูใช้การทดสอบความรู้ด้วยแบบทดสอบแบบเลือกตอบ เน้นการวัดด้านความรู้ความเข้าใจเป็นหลัก การประเมินผลด้านทักษะและความสามารถของนักเรียน พบว่า ครูใช้เครื่องมือ
วัดและประเมินผลไม่เหมาะสม และไม่มีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน และ 3) ความต้องการของครู พบว่า ครูต้องการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้ การประยุกต์ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้
ที่หลากหลายและเหมาะสมกับผู้เรียน โดยใช้วิธีการพัฒนาครูที่หลากหลาย และหากนำแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพมาใช้ในการพัฒนาครู จะทำให้ครูในโรงเรียนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ทั้งความรู้ ทักษะและประสบการณ์ต่าง ๆ ในการจัดการเรียนรู้
2. กระบวนการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า PPLC Process ประกอบด้วย 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อม (Prepare: P) ขั้นที่ 2 วางแผน
การจัดการเรียนรู้ (Plan : P) ขั้นที่ 3 ปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ (Learning Management : L) และ
ขั้นที่ 4 สะท้อนผลอย่างสร้างสรรค์ (Creative Reflection : C) และผลการประเมินความเหมาะสม
และความเป็นไปได้ของกระบวนการพัฒนาครู โดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก
3. ผลการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความ
สามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย พบว่า 1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูหลังการพัฒนาสูงกว่าก่อนการพัฒนาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก
3) ความพึงพอใจของครูที่มีต่อการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนอนุบาลอุทุมพรพิสัย โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และ 4) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ: การพัฒนาครู ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1 ผู้บริหารสถานศึกษาควรนำกระบวนการพัฒนาครูไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
กับสภาพปัญหาความต้องการของครู และบริบทของสถานศึกษา ควรดำเนินการให้ครอบคลุมกระบวนการพัฒนาครู ทั้ง 5 ขั้น และดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดภาคเรียน
1.2 ผู้บริหารสถานศึกษาควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาครูแต่ละขั้นให้ชัดเจน รวมถึงการกำกับติดตามอย่างเป็นกัลยาณมิตรจะทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพอย่างแท้จริง
1.3 ผู้บริหารสถานศึกษาควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการจัดตารางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
2. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรนำกระบวนการพัฒนาครูโดยใช้แนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสมรรถนะครูด้านอื่น ๆ เช่น การวิจัยในชั้นเรียน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา เป็นต้น
2.2 ควรมีการศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนด้านทักษะและความสามารถของผู้เรียน
เช่น ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา เป็นต้น