เค้าโครงงานวิจัยในชั้นเรียน
ชื่องานวิจัย การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้เกมการศึกษาในรูปแบบ On-line
ชื่อผู้วิจัย นางสาวอุษามณี จันทร์มีอ้น
สถานที่ติดต่อ โรงเรียนอนุบาลบ้านบึง(อำนาจคณูปถัมภ์) สำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเด็กในวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ต่อเทคโนโลยีในสมัยใหม่ และเนื่องด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 เด็กต้องเรียนรู้ที่บ้านโดยใช้ช่องทางการเรียนรู้ในรูปแบบ On-line และจากการประเมินความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย เด็กหลายคนยังไม่เข้าใจในเรื่องของ จำนวน ตัวเลข และรูปร่างรูปทรง จึงได้นำกิจกรรมเกมการศึกษา ในรูปแบบ On-line มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้เวลาในการจัดกิจกรรมประมาณวันละ 30 นาที เป็นการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมแอพพลิเคชั่น ZOOM หลังจากการจัดกิจกรรมพบว่าในห้องเรียนอนุบาลระดับชั้น 1/3 มีผลการประเมินทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยที่สูงขึ้นกว่าก่อนจัดกิจกรรม และได้รับการตอบรับที่ดีจากเด็ก เพื่อนครู และผู้ปกครอง
ความสำคัญของปัญหา
คณิตศาสตร์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิด ทำให้มนุษย์มีความคิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ
มีแบบแผน ตลอดจนการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ ช่วยให้การคาดการณ์ วางแผนการแก้ปัญหาต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ส่วนในเด็กปฐมวัย กับทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์มีความสำคัญยิ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งทั้งพ่อแม่และครูย่อมตระหนักถึงความสำคัญของคณิตศาสตร์อยู่แล้วว่า การเล่นและการสื่อสารการพูดคุยของเด็กนั้น มักจะมีเรื่องคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ถ้าเด็กได้รับการส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์อย่างเพียงพอ จะทำให้เด็กมีทักษะในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจึงควรมีการส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย
การจัดการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นการจัดสภาพการณ์ในชีวิตประจำวันของเด็กเป็นฐานแห่งการเรียนรู้ ซึ่งครูต้องวางแผนการจัดการเรียนรู้เป็นอย่างดีประกอบด้วยกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กค้นคว้า แก้ปัญหา พัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และความคิดรวบยอดที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ เด็กแต่ละวัยจะมีความสามารถเฉพาะเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง บรรยากาศการเรียนต้องไม่เคร่งเครียดเด็กรู้สึกสบาย ๆ ในขณะเรียน เห็นความสัมพันธ์ของคณิตศาสตร์ในธรรมชาติ บ้าน โรงเรียน การจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันและเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมจะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และความคิดรวบยอดได้ดีขึ้น ในการจัดการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กควรเน้นให้เด็กได้มีการเรียนรู้โดยอาศัยประสาทสัมผัสการรับรู้และการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญา การให้เด็กได้พัฒนาประสาทสัมผัสให้มากที่สุดและกระตุ้นให้เด็กได้คิดและมีโอกาสจัดกระทำหรือลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กได้เห็นสิ่งต่างๆ หรือเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ โดยผ่านประสาทสัมผัส ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัว
การจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละคนนั้น ควรคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งเด็กทุกคนมีความเหมือนกันในเรื่องของการพัฒนาการ เด็กทุกคนจะต้องผ่านลาดับขั้นตอนของพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้ง 4 ด้าน คือ ทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา แต่จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานต่างๆ และปัจจัยที่จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก การเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยมีความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้านสติปัญญา คือ การเล่น เพราะการเล่นของเด็กจะทาให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ครูจึงเป็นบุคคลที่สำคัญมากที่สุดในการจัดประสบการณ์ให้เด็ก เพราะครูสามารถกระตุ้นให้เด็กใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล โดยครูเป็นผู้ป้อนคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้คิดตาม เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นให้คิดเปรียบเทียบแจกแจง เชื่อมโยง หาเหตุผล และฝึกการแก้ปัญหาอยู่เสมอจะช่วยให้พัฒนาการด้านสติปัญญาพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กระดับปฐมวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากและสำคัญยิ่งกว่าวัยอื่น ๆ เพราะเด็กจะมีการพัฒนาการทุกด้านอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสติปัญญา เด็กจะเกิดการเรียนรู้มากที่สุดกว่าวัยอื่น ๆ
เกมเป็นสื่อหนึ่งที่มีการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถสร้างความเสมือนจริงและ ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สื่อเกม เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเนื่องด้วยเป็นสื่อที่ให้ภาพและเสียงที่ สมจริง สามารถนำเสนอสาระและความบันเทิงต่างๆ ควบคู่กันไปในเวลาเดียวกันซึ่งมีการพัฒนาทั้ง ด้านรูปแบบและเนื้อหาอย่างต่อเนื่องตลอดจนมีบทบาทที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกขณะ เกมในสังคมยุคใหม่มีระบบการสื่อสารมวลชนเป็นส่วนประกอบสำคัญและเนื่องด้วยความบันเทิงเป็นปฏิกิริยาของ ผู้คนต่อสภาพแวดล้อม ทั้งการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารแบบ 2 ทาง การสื่อสารแบบกลุ่มและ การสื่อสารแบบมวลชน ซึ่งมีลักษณะของการสื่อสารที่สอดคล้องกับการเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) คือ การที่ผู้เรียนเรียนด้วยกันเป็นกลุ่มเล็กและมีการทำงานด้วยกันเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน สอดคล้องกับงานวิจัยของ Collazos and Guerrero (2007) เกมสามารถสนับสนุนการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วมของครูและเป้าหมายการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ข้อเสนอแนะว่า สิ่งสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพคือกิจกรรม ของเกมที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเกมเป็นแรงจูงใจเชิงบวกที่สำคัญในการเรียนรู้และ ยิ่งมีความเสมือนจริงมากเท่าใดก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้มาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้เกมการศึกษาในรูปแบบ On-line ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับกับช่วงสถานการณ์ในปัจจุบัน และเหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านทางการเล่นโดยการใช้เทคโนโลยีที่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจและเกิดความสนุกสนานจากการทำกิจกรรมอย่างมีเป้าหมาย ทั้งนี้วิจัยในชั้นเรียนนี้ยังเป็นแนวทางให้กับผู้ศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ได้นำกิจกรรมไปปรับใช้เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความเหมาะสมต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้เกมการศึกษาในรูปแบบ On-line
ขอบเขตของการวิจัย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เด็กปฐมวัย ชาย - หญิง อายุระหว่าง 3 4 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในอนุบาลปีที่ 1/3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนอนุบาลบ้านบึง(อำนาจคณูปถัมภ์) จำนวน 27 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกเจาะจง
ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย
1. ตัวแปรต้น ได้แก่ การจัดกิจกรรมโดยใช้เกมการศึกษาในรูปแบบ On-line
2. ตัวแปรตาม ได้แก่ ทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ได้แก่ จำนวน ตัวเลข เรขาคณิต และการวัf
วิธีดำเนินการวิจัย
เครื่องมือการวิจัย
1. แผนการจัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์ เป็นแผนที่ผู้จัดได้สร้างขึ้นมาเอง โดยมีขั้นตอน การสร้างดังนี้
1.1 ศึกษาคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2560 ของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเป็นแนวทางการจัดประสบการณ์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
1.2 นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาหลักสูตรและเอกสารที่เกี่ยวข้อง มาวางแผนการจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้เกมการศึกษาในรูปแบบ On-line
1.3 เขียนแผนการจัดกิจกรรม ประกอบด้วย จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ ขั้นตอนการจัดกิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ สื่อการสอน และการประเมินผล
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
การรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยดําเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งมีหลัก ดําเนินการ ดังนี้
1. ระยะก่อนการทดลอง ผู้วิจัยได้ดําเนินการประเมินทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นรายบุคคล
2. รวบรวมผลการประเมินก่อนการจัดกิจกรรม
3. ระยะทําการทดลอง ผู้วิจัยได้ทําการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึง เดือนมีนาคม 2565 ผู้วิจัยจึงลงมือทําการทดลองเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งทําการสอนทุกศุกร์ ในช่วงเวลาตั้งแต่ 17.30 น. 18.00 น. รวมเวลา 30 นาที เป็นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมแอพพลิเคชั่น ZOOM
4. ระยะหลังการจัดกิจกรรม กลุ่มประชากรที่ได้รับการจัดกิจกรรม โดยใช้เกมการศึกษาในรูปแบบ On-line ผู้วิจัยได้ดําเนินการประเมินทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นรายบุคคล
5. รวบรวมผลการประเมินหลังการจัดกิจกรรม
6. นําแบบประเมินทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ทั้งก่อนการทำกิจกรรม (Pretest) และหลังการการทำกิจกรรม (Posttest) ไปทําการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลมีขั้นตอน ดังนี้
1. เปรียบเทียบผลการประเมินทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการทำกิจกรรม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. เด็กมีทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ในเรื่องของจำนวน ตัวเลข เรขาคณิต และการวัดมากขึ้นกว่าก่อนการจัดกิจกรรม
2. ครูและผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยได้แนวทางในการออกแบบการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยในรูปแบบ On-line ให้มีความน่าสนใจของเด็ก เพื่อให้เด็กมีการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องถึงแม้ในสถานการณ์ปัจจุบันจะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ที่โรงเรียน
สรุปผลการวิจัย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ดังนี้
1. ผลการวิเคราะห์พฤติกรรมด้านทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัด กิจกรรมโดยใช้เกมการศึกษาในรูปแบบ On-line พบว่า เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมด้านทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ดังนี้
จำนวน
เด็กส่วนใหญ่นับแล้วบอกค่าจำนวนตามที่ครูให้นับได้อย่างถูกต้อง โดยที่คนที่นับบ่อย ๆ ก็จะนับได้รวดเร็ว ชัดเจน มั่นใจในตนเองและมีความมั่นใจในตนเอง นับเลขได้มากกว่า 10 ขึ้นไปได้ ส่วนเด็กที่พูดน้อยและไม่ค่อยนับก็จะนับมากขึ้นมีการพัฒนามากขึ้น นับได้ถูกต้องขึ้นเรื่อยๆ แต่ในบางครั้งมักจะนับเสียงเบาๆเพราะยังไม่มั่นใจในตนเอง กลัวการนับผิด ต้องคอยกระตุ้นให้เกิดความมั่นใจอยู่เสมอ
ตัวเลข
เด็กส่วนใหญ่ บอกตัวเลข 1 5 ตามที่ครูกำหนดได้อย่างถูกต้อง เพราะเด็กได้ทำกิจกรรมและได้พบเห็นตัวเลขบ่อย ๆ เด็กเกิดความคุ้นเคยกับตัวเลขมากขึ้น
เรขาคณิต
เด็กส่วนใหญ่บอกรูปเรขาคณิตตมที่ครูกำหนดได้อย่างถูกต้อง แต่อาจจะมีเด็กบางคนยังจำชื่อของเรขาคณิตไม่ได้ อย่างเรขาคณิต รูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า กับสี่เหลี่ยมจัตุรัส เด็กจะจำสลับกันอยู่ ต้องส่งเสริมและทบทวนให้มากขึ้น
การวัด
เด็กส่วนใหญ่โต้ตอบเมื่อครูถามเรื่องการเปรียบเทียบขนาดใหญ่ เล็ก และ หนัก เบา โดยตอบคำถามที่ครูถาม เด็กที่ตอบบ่อยๆ ก็จะตอบด้วยเสียงที่ดัง ชัดเจน และคล่องแคล่วมากขึ้น ไม่ค่อยหันไปมองเพื่อนคนข้างๆ ส่วนเด็กที่ตอบน้อยหรือไม่ตอบเลยก็เริ่มพูดมากยิ่งขึ้น แต่ยังพูดด้วยเสียงที่เบา ไม่มั่นใจ บางคนเปรียบเทียบผิดและให้เหตุผลผิด