บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ในครั้งนี้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนา (Research and development) โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหา ความต้องการจำเป็นและแนวทางการจัดการขยะในสถานศึกษา 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โดยขั้นตอนดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาวิธีการจัดการขยะในโรงเรียนขลุงรัชดาภิเษกจากผู้บริหารและครู จำนวน 15 คน และการศึกษาวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (R1) ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา (D1) โดยยกร่างรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา แล้วตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน แล้วปรับปรุงรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา (R2) แหล่งข้อมูลคือ ครู 30 คน และนักเรียน 60 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกกิจกรรม แบบทดสอบวัดความรู้แบบถูก-ผิด (True-False) จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น KR-20=0.91 แบบสอบถามระดับปฏิบัติการดำเนินการโครงการ แบบมาตราส่วน 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่น =0.87 และแบบสอบถามความพึงพอใจของครูและนักเรียน แบบมาตราส่วน 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่น =0.92 และขั้นตอนที่ 4 การประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย (x̄ ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาเพื่อศึกษาปัญหา ความต้องการจำเป็นและแนวทางการจัดการขยะ โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก พบว่า สภาพปัญหา คือ ยังไม่มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ครูและนักเรียนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการคัดแยกขยะ ซึ่งควรสร้างรูปแบบจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School)
2. ผลการสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พบว่า รูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) กระบวนการดำเนินงาน และ 5) การวัดและประเมินผล และผลการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ด้านความเป็นมาของรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา มีความเหมาะสมในระดับมาก (x̄ = 4.47) ด้านแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄= 4.60) ด้านการกำหนดองค์ประกอบของรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.73) ด้านองค์ประกอบของรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษา มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.64) ได้แก่ หลักการ มีความเหมาะสมในระดับมาก (x̄ = 4.33) วัตถุประสงค์ มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.72) เนื้อหา มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.70) กระบวนการดำเนินงาน มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.70) และการวัดและประเมินผล มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.73) ซึ่งทุกด้านมีคุณภาพเหมาะสม สามารถนำไปทดลองใช้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้
3. ผลการศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พบว่า
3.1 ปริมาณขยะในโรงเรียนลดลง 15.42 กิโลกรัม/วัน
3.2 ปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ 14.18 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นร้อยละ 60 จากขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโรงเรียน
3.3 ขยายผลการมีส่วนร่วมไปสู่ครู บุคลากรและนักเรียนคนอื่นๆ ทำให้มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ร้อยละ 94.22 ครูและบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรม ร้อยละ 100 ของจำนวนทั้งหมดในโรงเรียน
3.4 นักเรียนมีระดับทักษะ/ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม/ จิตสำนึกในการจัดการขยะและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
3.5 นักเรียนมีความรู้ในการจัดการขยะมากขึ้น โดยคะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังการดำเนินโครงการสูงกว่าก่อนการดำเนินโครงการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.6 ระดับปฏิบัติในการดำเนินการโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อยู่ในระดับมาก ทั้งโดยรวมและรายด้าน ได้แก่ ด้านการอำนวยการ ด้านการวางแผน ด้านการจัดบุคลากรปฏิบัติงาน ด้านการประสานงาน ด้านการรายงาน ด้านการจัดองค์การ และด้านการงบประมาณ ตามลำดับ
3.7 ครูและนักเรียนมีความพึงพอใจในการจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ =4.38) ด้านปัจจัยนำเข้า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄=4.65) ด้านกระบวนการดำเนินงานและด้านผลผลิต มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (x̄ =4.34 และ 4.18) ตามลำดับ
3.8 ผลสำเร็จการดำเนินกิจกรรม พบว่า โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก ได้รับรางวัลผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ระดับประเทศ จาก 1,600 ทีม ในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.9 ความยั่งยืนและต่อเนื่องของการดำเนินงานโรงเรียนปลอดขยะ พบว่า โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปีงบประมาณ 2562-2565 ซึ่งจะดำเนินการต่อในปีงบประมาณ 2565 และปีต่อๆ ไป ได้แก่ โครงการเสริมสร้างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการโรงเรียนปลอดขยะสู่ความยั่งยืน สะอาดบุรี จูเนียร์ต่อเนื่องต่อไป
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการขยะในสถานศึกษาตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ =4.69) และรายด้านมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน ได้แก่ ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) (x̄ =4.57) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) (x̄ =4.70) และด้านผลผลิต (Output) (x̄ =4.80)