รายงานการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564
นายวิภพ ไชยธรรม
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนากวาง
วิทยฐานะ ชำนาญการ
บทสรุปผู้บริหาร
โรงเรียนบ้านนากวางได้ดำเนินงานการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดขยะในโรงเรียน โดยกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติงานประจำปีของโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนเน้นให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ โดยมีครูให้คำปรึกษา แนะนำ และกำกับดูแล ผู้รายงานในฐานะผู้บริหารโรงเรียนบ้านนากวางได้เล็งเห็นความสำคัญในการลดขยะในโรงเรียน จึงทำการศึกษาผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ของการรายงานครั้งนี้คือ 1) เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน โครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 2) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน โครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการ โรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 มีประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการรายงานครั้งนี้ ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนบ้านนากวาง จำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 30 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น 74 คน สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการรายงานครั้งนี้ คือแบบสอบถามที่ผู้รายงานสร้างขึ้นโดยยึดวัตถุประสงค์ในการรายงาน แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งแบบสอบถามออกเป็น 4 ชุด คือ ชุดที่ 1 ศึกษาผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 มีลักษณะเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และการศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 เป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิด สำหรับสอบถามครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา ชุดที่ 2 ศึกษาความพึงพอใจในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 สำหรับสอบถามครูและบุคลากรทางการศึกษา มีลักษณะเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ชุดที่ 3 ศึกษาความพึงพอใจในการดำเนินงานโครงการฯ สำหรับสอบถามคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน มีลักษณะเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และชุดที่ 4 ศึกษาความพึงพอใจในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 สำหรับนักเรียน มีลักษณะเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ
ผลการดำเนินงาน พบว่า
1. ผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 รายงานผลการดำเนินงานตามแนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ตามหลัก 3Rs
การลดปริมาณขยะ (Reduce) ตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนากวางได้ดำเนินการกิจกรรม โดยการมีการดำเนินการ เริ่มการประชุมวางแผนกับคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แจ้งจุดประสงค์ของการดำเนินการตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ โดยได้ดำเนินการกับนักเรียนทั้งโรงเรียน ได้แก่ กิจกรรมรับประทานอาหารให้หมดจาน กิจกรรมลดขวดน้ำพลาสติก กิจกรรมลดถุงพลาสติกและโฟมในสถานศึกษา และกิจกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อลดการใช้ ในแต่ละกิจกรรมจะให้นักเรียนได้มองเห็นปัญหาของการเพิ่มปริมาณของขยะ การจัดกิจกรรมจะใช้สื่อประกอบในแต่ละกิจกรรม สื่อที่ใช้มีองค์ประกอบเป็นรูปภาพ สีสันสวยงาม เข้าใจง่าย เร้าความสนใจ ใช้ภาษาที่มีความเข้าใจง่ายที่มีความเหมาะสมกับวัยของนักเรียนในแต่ละระดับ โดยสื่อส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น สื่อของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สื่อที่เผยแพร่ของหน่วยงานทางการศึกษา บริษัท ห้างร้าน หรือองค์กรเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในทุกขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมจะมีการประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมตลอดเวลา ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้กิจกรรมสามารถดำเนินต่อไปด้วยความเรียบร้อย สามารถดำเนินกิจกรรมได้บรรลุตามเป้าหมายของกิจกรรม นักเรียนเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรม เกิดความตระหนักในการลดปริมาณขยะทั้งในโรงเรียนและที่บ้านของนักเรียน มีส่วนร่วมปฏิบัติกิจกรรมได้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการลดปริมาณขยะได้เป็นอย่างดี ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ความร่วมมือในการดำเนินการกิจกรรมในการลดปริมาณขยะตลอดทุกกิจกรรม ส่งผลทำให้ผลการจัดกิจกรรมประสบผลสำเร็จตามจุดประสงค์
การใช้ซ้ำ (Reuse) ตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนากวางได้ดำเนินการกิจกรรมโดยเริ่มจากการประชุมวางแผนกับคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แจ้งจุดประสงค์ของการดำเนินการกิจกรรม ดำเนินการกิจกรรมกับนักเรียนทั้งโรงเรียน ได้แก่ กิจกรรมเศษอาหารเป็นอาหารสัตว์ กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุทั่วไป และกิจกรรมใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์จได้ ในแต่ละกิจกรรม นักเรียนได้มองเห็นประโยชน์ของการใช้ซ้ำเพื่อประหยัดในการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะ การจัดกิจกรรมจะใช้สื่อประกอบในแต่ละกิจกรรม โดยมีองค์ประกอบของสื่อเป็นรูปภาพ สีสันสวยงาม เข้าใจง่าย เร้าความสนใจ ใช้ภาษาที่มีความเข้าใจง่ายที่มีความเหมาะสมกับวัยของนักเรียนในแต่ละระดับ สื่อส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับ กิจกรรมการลดปริมาณขยะ ในทุกขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมจะมีการประเมินความก้าวหน้า และผลของการดำเนินกิจกรรมตลอดเวลา ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินการเพื่อให้ได้ผลบรรลุตามเป้าหมายของกิจกรรม นักเรียนได้เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรม เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าอันจะมีส่วนในการลดปริมาณขยะทั้งในโรงเรียน บ้าน หรือในชุมชน นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมได้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ความร่วมมือในการดำเนินการกิจกรรมอย่างเต็มที่ ส่งผลทำให้ผลการจัดกิจกรรมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนากวางได้ดำเนินการกิจกรรม โดยการมีการดำเนินการเช่นเดียวกับ กิจกรรมการลดปริมาณขยะ และกิจกรรมการใช้ซ้ำ มีการบูรณาการระหว่างกิจกรรมเพื่อให้การจัดกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ กิจกรรมการรวบรวมขยะรีไซเคิลจำหน่ายร้านรับซื้อของเก่า กิจกรรมคัดแยกขยะ และกิจกรรมรวบรวมขยะอันตราย/แยกทรัพยากรที่มีค่านำกลับใช้ใหม่ ในแต่ละกิจกรรมจะให้นักเรียนได้เห็นผลดีของการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเป็นการลดขยะที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการจัดกิจกรรมเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ใช้สื่อประกอบในแต่ละกิจกรรม ที่มีสีสันสวยงาม เข้าใจง่าย เร้าความสนใจ ภาษาที่ใช้มีความเข้าใจง่ายที่มีความเหมาะสมกับวัยของนักเรียนในแต่ละระดับ มีการประเมินผล ติดตามในระหว่างการดำเนินกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้มีความเหมาะสมและสามารถดำเนินต่อไปด้วยความเรียบร้อย ได้ผลบรรลุตามเป้าหมาย นักเรียนมีความสุขในการทำกิจกรรม เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า คิดก่อนที่จะทิ้ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดปริมาณขยะทั้งในโรงเรียน บ้านและชุมชนของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ความร่วมมือในการดำเนินการกิจกรรมในการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเต็มที่ ส่งผลทำให้ผลการจัดกิจกรรมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้
การรายงานผลการดำเนินงาน จากแบบสอบถามการดำเนินงาน โครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวมจากการใช้แบบสอบถามโดยใช้หลักการวงจรคุณภาพ (PDCA) ในภาพรวม ด้านการวางแผนการปฏิบัติ (Plan) ด้านการดำเนินงาน (Do) ด้านการตรวจสอบประเมินผล (Check) และด้านการปรับปรุงพัฒนา (Action) พบว่าในทุกด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาในแต่ละด้านแล้วพบว่า ด้านการตรวจสอบประเมินผล (Check) ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 4.76 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.18 โดยมีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงาน หลังการปฏิบัติงาน บุคลากรทุกคนเห็นความสำคัญของการตรวจสอบประเมินผลของการดำเนินงานโครงการ และผู้บริหารเห็นความสำคัญของการตรวจสอบประเมินผลของการดำเนินงานโครงการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการดำเนินงาน (Do) มีค่าเฉลี่ยสูงรองลงมาเท่ากับ 4.75 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.14 โดยมีผู้บริหารมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการตลอดทุกกิจกรรม สถานที่มีความเหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ โรงเรียนดำเนินการกิจกรรมรับประทานอาหารให้หมดจาน โรงเรียนดำเนินกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล โรงเรียนดำเนินกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุทั่วไป โรงเรียนดำเนินกิจกรรมแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ โรงเรียนดำเนินกิจกรรมการรวบรวมขยะรีไซเคิลจำหน่ายร้านรับซื้อของเก่า และโรงเรียนดำเนินกิจกรรมคัดแยกขยะ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการวางแผนการปฏิบัติ (Plan) มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.60 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.23 โดยมีการวิเคราะห์บริบทโรงเรียน ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียน และสถานการณ์ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด อยู่ในระดับมากที่สุด และ ด้านการปรับปรุงพัฒนา (Action) มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดจากทั้ง 4 ด้าน มีค่าเฉลี่ยยเท่ากับ 4.54 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.41 โดยมีการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขจุดอ่อน และเสริมจุดแข็งของโครงการ และด้านบุคลากรนำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนาการดำเนินโครงการอย่างมีระบบและมีคุณภาพ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 การดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 จากแนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ตามหลัก 3Rs เพื่อสรุปปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะใน 4 ด้านคือ ด้านการวางแผนการปฏิบัติ (Plan) ด้านการดำเนินงาน (Do) ด้านการตรวจสอบประเมินผล (Check) และด้านการปรับปรุงพัฒนา (Action) ดังนี้คือ
ด้านการวางแผนการปฏิบัติ (Plan) ปัญหาอุปสรรคในเรื่องของการสื่อสารในการวางแผนเพื่อดำเนินงานของโครงการยังมีบางส่วนที่ยังไม่ครบถ้วน ขาดความชัดเจน ทำให้ความเข้าใจร่วมกันในภาระงานที่ต้องปฏิบัติมีไม่ครบถ้วน ส่งผลทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการยังคงสับสนในบางประเด็น ทำให้การดำเนินงานตามโครงการบางส่วนมีปัญหาในเรื่องของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งเนื่องจากภาระงานในโรงเรียนที่มีมาก ทั้งงานในหน้าที่การสอน งานพิเศษต่างๆ หรืองานนโยบายเร่งด่วนที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันอยู่บ่อยครั้ง ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมทำได้อย่างไม่เต็มที่เนื่องจากเวลาในการดำเนินการของกิจกรรมได้หายไป ทำให้วางแผนเพื่อกำหนดในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันยังขาดความชัดเจนและต่อเนื่องในบางประเด็น ข้อเสนอแนะ คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้รับผิดชอบในกิจกรรมต่างๆ จัดเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนในทุกๆ กิจกรรมเพื่อการนำเสนอแนวทางในการทำกิจกรรมมีความชัดเจน และเปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินกิจกรรมได้มีโอกาสในการซักถามมากขึ้น อีกทั้งยังต้องจัดทำตารางเวลาแบบบูรณาการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมให้มีความชัดเจน โดยกำหนดให้เนื้อหาในการแลกเปลี่ยนที่กระชับ ไม่ต้องใช้เวลามากนักเพื่อให้สามารถใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนที่น้อยลง ด้านการดำเนินงาน (Do) ปัญหาอุปสรรค คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับชอบโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 ในแต่ละกิจกรรม มีภาระงานมาก อันได้แก่ ภาระงานการสอน ภาระงานพิเศษต่างๆ หรืองานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ส่งผลทำให้การดำเนินการในแต่ละกิจกรรมดำเนินการได้ไม่เต็มที่ และจากจำนวนบุคลากรภายในโรงเรียนที่มีจำกัด จึงส่งผลให้ภาระงานของแต่คนมีภาระงานในโรงเรียนมาก ส่งผลให้กระทบกับเวลาในการดำเนินการกิจกรรมที่มีจำกัด อีกทั้งในบางกิจกรรมนักเรียนส่วนใหญ่สนใจในกิจกรรมน้อย อาจจะเนื่องจากเนื้อหากิจกรรมที่ไกลตัวและไม่น่าสนใจ อีกทั้งโรงเรียนบ้านนากวางเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีงบประมาณในการดำเนินงานที่จำกัด ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน ข้อเสนอแนะ คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องร่วมกันบูรณาการกิจกรรมในโครงการให้สามารถดำเนินการพร้อมกันได้ เช่น กิจกรรมกิจกรรมการรวบรวมขยะรีไซเคิลจำหน่ายรับซื้อของเก่าสามารถนำมาบูรณาการกับกิจกรรมรวบรวมขยะอันตราย/แยกทรัพยากรที่มีค่านำมาใช้ใหม่ หรือกิจกรรมลดขวดน้ำพลาสติกและกิจกรรมลดถุงพลาสติกและโฟมในโรงเรียน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดเวลาในการดำเนินกิจกรรม ต้องมีการการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้มีความน่าสนใจมากขึ้น สร้างสรรค์กิจกรรมให้สามารถเร้าความสนใจของนักเรียนมากยิ่งขึ้น เพิ่มงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม โดยหาแหล่งทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆ จากภายนอก เพื่อเป็นเป็นการลดภาระใช้จ่ายของงบประมาณของโรงเรียน ด้านการตรวจสอบประเมินผล (Check) ปัญหาอุปสรรค คือ การประเมินเพื่อทบทวนการดำเนินงานของโครงการยังมีน้อย การประชาสัมพันธ์ของโครงการต่อบุคคลภายนอกมีน้อย บุคคลภายนอกบางส่วนอาจจะยังไม่ทราบการดำเนินงานของโรงเรียน อีกทั้งการนำผลการกำกับ ติดตาม ไปปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ยังไม่เด่นชัดมากเท่าที่ควร ข้อเสนอแนะ ควรเพิ่มความถี่ในการประเมินเพื่อทบทวนการดำเนินงานของโครงการให้มากขึ้น มีการเพิ่มช่องทางของการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของโครงการต่อบุคคลภายนอกให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการนำผลการกำกับติดตามไปปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ด้านการปรับปรุงพัฒนา (Action) ปัญหาอุปสรรค คือ การจัดทำรายงานสารสนเทศ การดำเนินการโครงการบางส่วนไม่ครบถ้วน ส่งผลให้บุคลากรของโรงเรียนบางส่วนยังเข้าใจในรูปแบบของการดำเนินการในบางกิจกรรมคลาดเคลื่อน อีกทั้งโรงเรียนยังขาดการประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งผลให้บุคคลภายนอกโรงเรียนยังไม่ทราบโครงการของโรงเรียน ข้อเสนอแนะ ได้แก่ จัดทำรายงานสารสนเทศของโครงการให้มีเนื้อหาที่มีความชัดเจน เพิ่มรายละเอียดมากขึ้น ปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมชัดเจน ผู้บริหารสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาใช้กระบวนการ PLC เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจและร่วมอภิปรา เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง ตลอดจนนำรายงานสารสนเทศของโครงการไปเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกได้รับทราบโครงการมากขึ้น
3. ผลความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 การดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะโรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 จากแนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ตามหลัก 3Rs ใน 3 ด้านคือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต
ความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวมพบว่า ความพึงพอใจในด้านปัจจัยนำเข้าในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.77 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.21 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านผู้บริหารส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะ และนักเรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ด้านกระบวนการในภาพรวม ความพึงพอใจด้านกระบวนการมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.71 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.21 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการจัดกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุทั่วไป กิจกรรมแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพและกิจกรรมการรวบรวมขยะรีไซเคิลจำหน่ายร้านรับซื้อของเก่า มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และด้านผลผลิตในภาพรวม ความพึงพอใจด้านผลผลิต มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.72 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.24 อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการเข้าร่วมของนักเรียนในกิจกรรมรับประทานอาหารให้หมดจาน กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุทั่วไป และกิจกรรมการรวบรวมขยะรีไซเคิลจำหน่ายร้านรับซื้อของเก่า มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด
ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองต่อโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวมพบว่า ความพึงพอใจในด้านปัจจัยนำเข้าในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.29 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.53 อยู่ในระดับมาก ด้านโรงเรียนแจ้งการจัดกิจกรรมที่ท่านมีความรู้ความสามารถในเรื่องที่เกี่ยวข้องท่านยินดีที่จะมาให้ความรู้กับนักเรียนมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ด้านกระบวนการในภาพรวม ความพึงพอใจด้านกระบวนการมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.87 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.37 อยู่ในระดับมาก ด้านท่านมีความเห็นว่าโครงการโรงเรียนปลอดขยะเป็นโครงการที่ประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้ภายในชุมชนมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และด้านผลผลิตในภาพรวม ความพึงพอใจด้านผลผลิต มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.82 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน0.30 อยู่ในระดับมาก ด้านนักเรียนมีพฤติกรรมในการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าเพื่อลดการเกิดขยะที่ไม่จำเป็น มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด
ความพึงพอใจของนักเรียนต่อโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนบ้านนากวาง ปีการศึกษา 2564 ในภาพรวมพบว่า ความพึงพอใจในด้านปัจจัยนำเข้าในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.32 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.20 อยู่ในระดับมาก นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมตามโครงการ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ด้านกระบวนการในภาพรวม ความพึงพอใจด้านกระบวนการมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.47 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.21 อยู่ในระดับมาก ด้านกิจกรรมตรงตามความต้องการของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และด้านผลผลิตในภาพรวม ความพึงพอใจด้านผลผลิต มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.27 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.21 อยู่ในระดับมาก ด้านนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด