ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564
ผู้รายงาน : นางภัทร์ชนิดร์ ภัทรานนท์
ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสงขลา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1
ปีที่รายงาน : ปีการศึกษา 2564
บทสรุป
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 ครั้งนี้ เป็นการประเมินผลโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ประเมินด้านกระบวนการ ประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ซึ่งประกอบด้วย 1) คุณภาพของการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 2) ศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 3) คุณภาพผู้เรียน จำแนกเป็น 3.1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา 3.2) ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 420 คน ครูผู้สอน จำนวน 77 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 420 คน และ
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน
เครื่องมือที่ใช้ในเก็บข้อมูลมี 2 ลักษณะ ได้แก่ แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 6 ฉบับ และแบบบันทึกผลการประเมินตามสภาพจริง จำนวน 2 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ ทุกฉบับมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือได้ค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.859 - 0.976 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินพบว่า
1.ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อมของโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมได้คะแนน รวมเฉลี่ย 15 คะแนน ผ่านเกณฑ์ภาพรวมทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่ม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสองกลุ่ม โดยความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ = 4.53 ,
S.D. = .50) อยู่ในระดับ มากที่สุด รองลงมา คือ ครู มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.48 , S.D. = .57) อยู่ในระดับมาก
2.ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของครู มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.49 , S.D. = .54) อยู่ในระดับมากโดยประเมิน 5 ด้าน ได้แก่ ความพร้อมด้านบุคลากร ความพร้อมด้านงบประมาณ ความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ และสถานที่ ความเหมาะสมการบริหารจัดการ และความเหมาะสมของผู้สนับสนุนโครงการ โดยรวม มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 15 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3.ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง โดยประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ การวางแผน การดำเนินการ การติดตามการประเมินผล และการนำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนา โดยรวมทั้งสามกลุ่มที่ประเมิน พบว่า มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่ม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสามกลุ่ม โดยความคิดเห็นของครู มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ = 4.59 , S.D. = .52) อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ นักเรียน มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.41 , S.D. = .66) อยู่ในระดับมาก ส่วนความคิดเห็นของ ผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x̄ = 4.22 , S.D. = .74) อยู่ในระดับมาก
4.ผลการประเมินด้านผลผลิตโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 จำแนกเป็น
4.1คุณภาพการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง โดยรวมทั้งสามกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 20 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่ม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสามกลุ่ม โดยความคิดเห็นของครู มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ = 4.47 , S.D. = .59) อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ นักเรียน มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.35 , S.D. = .72) อยู่ในระดับมาก ส่วนความคิดเห็นของผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x̄ = 4.11 , S.D. = .73) อยู่ในระดับมากเช่นกัน
4.2 ศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน และผู้ปกครอง โดยประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านครูปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู ด้านจัดการเรียนรู้ตามแนวศตวรรษที่ 21 และด้านการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลดีต่อนักเรียน โดยรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่ม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสองกลุ่ม โดยความคิดเห็นของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ = 4.34 , S.D. = .69) อยู่ในระดับมาก รองลงมา
ผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.31 , S.D. = .71) อยู่ในระดับมากเช่นกัน
4.3คุณภาพผู้เรียนโรงเรียนอนุบาลสงขลา จำแนกเป็น
4.3.1 ผลสัมฤทธิ์ระดับสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 87.38 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3.2 ผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนอนุบาลสงขลา โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 53.66 ระดับเขตพื้นที่การศึกษา (สพป.สงขลา เขต 1) โดยรวม มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 42.98 และระดับประเทศ โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 40.19 แสดงให้เห็นว่า ผลการทดสอบระดับชาติ ขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนอนุบาลสงขลา มีค่าคะแนนเฉลี่ย สูงกว่าระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับประเทศ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.4.ความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวมทั้งสี่กลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ได้คะแนนเฉลี่ย 10 ผ่านเกณฑ์การประเมิน
เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่ม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งสี่กลุ่ม โดยความคิดเห็นของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ = 4.54 , S.D. = .56) อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.53 , S.D. = .66) อยู่ในระดับมากที่สุด ครู มีค่าเฉลี่ย (x̄ = 4.52 , S.D. = .55) อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x̄ = 4.50 , S.D. = .52) อยู่ในระดับมาก
สรุปผลการประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา ปีการศึกษา 2564 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIIP Model) ตามประเด็นตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก และเกณฑ์การประเมิน พบว่า
ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อมของโครงการ ค่าน้ำหนัก 15% ผลการประเมินเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
ด้านปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงานตามโครงการของโครงการ ค่าน้ำหนัก 15% ผลการประเมินเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งโดยภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
ด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการ ค่าน้ำหนัก 20% ผลการประเมินเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
ด้านผลผลิตโครงการ ค่าน้ำหนัก 50% ผลการประเมินเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
สรุปรวมทั้ง 4 ด้าน ของโครงการ ค่าน้ำหนัก 100% ผลการประเมินเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะเพื่อนำผลการประเมินไปใช้
1.1 โรงเรียนควรส่งเสริมให้ครูพัฒนาตนเองด้วยการอบรม สัมมนา ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย และพัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็นครูเพื่อศิษย์
1.2 ควรพัฒนาโครงการศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ อย่างต่อเนื่อง
1.3 โรงเรียนสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีให้เพียงพอกับความต้องการจำเป็นของครู
1.4 การจัดการเรียนรู้ของครูผ่านระบบออนไลน์ นักเรียนจำนวนหนึ่งยังขาดความพร้อม (ทางโรงเรียน หรือภาครัฐควรแสวงหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาส)
1.5 โรงเรียนควรส่งเสริมโอกาสให้ครูรุ่นใหม่ถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ แก่ครูผู้อาวุโสให้มากยิ่งขึ้น
2. ข้อเสนอแนะเพื่อการประเมินและวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรวิจัยพัฒนารูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่
2.2 ควรศึกษาปัญหา และอุปสรรคของครูในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ ระบบออนไลน์ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
2.3 ควรศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยใช้ระบบออนไลน์ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในกรณีที่นักเรียนไม่ได้มาโรงเรียน
2.4 ควรนำรูปแบบหรือวิธีการประเมินอื่น ๆ นอกเหนือจากการประเมินโดยใช้ ซิปโมเดล (CIPP Model) มาประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพครู เพื่อศิษย์ตามแนวฐานวิถีชีวิตใหม่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา เพื่อการยืนยันผล