ที่มาและความสำคัญ
ภาษาเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สื่อสารในการดำรงชีวิต อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดมนุษย์
ก็ต้องใช้ภาษาเป็นส่วนประกอบ เพื่อแสดงความคิด ความรู้ ความต้องการ ความเข้าใจและประสบการณ์ต่าง ๆ (เยาลักษณ์ ชาติสุขศริเดช,2553) ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทยที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้หลักการและวิธีการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพื่อให้การสื่อสารในชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การอ่านออกเสียงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะการอ่านนำไปสู่การพูด การฝึกอ่านออกเสียงที่ถูกต้องชัดเจน ตามอักขรวิธี จะส่งผลให้การพูดถูกต้อง ชัดเจนตามไปด้วย แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาลายู พูดภาษายาวีเป็นหลักและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ทำให้การออกเสียงคำในภาษาไทยไม่ชัดเจน โดยผู้วิจัยการทำสอบการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ พบว่า นักเรียนจำนวน 13 คน มีคะแนนผลการทดสอบต่ำกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม ผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ของนักเรียน โดยการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ก่อนและหลังการเรียนด้วยแบบฝึกการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
2. เพื่อศึกษาปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังการเรียนด้วยการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
ความสำคัญของการวิจัย
1. ทำให้สามารถแก้ปัญหาด้านการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ของนักเรียน ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ให้มีผลการเรียนรู้ที่สูงขึ้น
2. เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ขอบเขตการวิจัย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านศรีพงัน ปีการศึกษา 2564
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่คัดเลือกจากนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การอ่านออกเสียง คำควบกล้ำแท้ ร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม
ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรอิสระ แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
ตัวแปรตาม ผลการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนบ้านศรีพงัน
เนื้อหาที่ใช้ทดลอง
การอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
ระยะเวลาดำเนินการทำลอง
ระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการทดลองโดย ผู้วิจัยเป็นผู้ฝึกทักษะและควบคุมชั้นเรียนเอง ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดยทำการทดลอง 12 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง รวมเวลาที่ใช้ศึกษาครั้งนี้ 12 ชั่วโมง ใช้แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 6 แผน ทดสอบก่อนเรียน 1 ชั่วโมง และทดสอบ หลังเรียนอีก 1 ชั่วโมง รวมเวลาที่ใช้ทั้งหมด 14 ชั่วโมง
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. คำควบกล้ำแท้ หมายถึง คำที่มีพยัญชนะต้นตัวหน้าเป็น ก ข ค ต ป ผ พ พยัญชนะต้นตัวหลังเป็น ร ล หรือ ว ประสมสระเดียวกัน ออกเสียงกล้ำกันสนิท
2. แบบฝึกอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ หมายถึง แบบฝึกที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้นจากค้นคว้าจากคู่มือครู และคู่มือภาษาไทยเพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านศรีพงัน
สมมติฐานการวิจัย
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าร้อยละ 50
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือการวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
1. แบบทดสอบการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
2. แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประกอบการจัดการ เรียนรู้ เรื่อง แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ จำนวน 6 แผน
3. แบบทดสอบวัดทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ของนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3
4. แบบทดสอบวัดทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ก่อนเรียน หลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นข้อสอบแบบอ่านเป็นคำ ฉบับละ 20 ข้อ
วิธีดำเนินการวิจัย
แบบแผนการวิจัย
เป็นการศึกษาทดลองโดยใช้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว (The One-Group Pretest-Posttest Design) มีการวัดตัวแปรตามก่อน ให้สิ่งทดลอง (Pretest) เมื่อให้สิ่งทดลอง ทำการวัดผลที่เกิดขึ้นในตัวแปรตาม (Posttest) ผู้วิจัยสามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตามก่อนและหลัง การทดลองได้ (ชูศรี วงศ์รัตนะ,2558)
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย
ได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่คัดเลือกจากนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม
การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. ผู้วิจัยสร้างแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้
2. ดำเนินการทดลองใช้ กำหนดตาราง วัน และเวลาในการทดลอง
2.1 ผู้วิจัยชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียนแล้วทำการ ทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) ด้วยแบบทดสอบวัดทักษะการ อ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ก่อนเรียนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
2.2 ทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย ตามแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยผู้วิจัยเป็นผู้ฝึกทักษะและควบคุมชั้นเรียน นักเรียนทำกิจกรรมในแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ สำหรับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แต่ละชุด แล้วตรวจให้คะแนน ทำการบันทึกคะแนนเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป
2.3 ทดสอบหลังเรียน (Post- test) นักเรียนกลุ่มเป้า หมายด้วยแบบทดสอบวัดทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ หลังเรียน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. ตรวจให้คะแนนแบบทดสอบก่อน - หลัง เรียน เรื่อง การอ่านออกเสียงคำควบกล้ำ ของนักเรียนแต่ละคน
2.เปรียบเทียบคะแนนสอบก่อนและหลังเรียน
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
1. ค่าเฉลี่ยเลขคณิต
2. ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
3. ดัชนีประสิทธิผล
จากการวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยต้องการแก้ปัญหากับนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ด้วยการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ค่าเฉลี่ยก่อนเรียน 4.92 คะแนน ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.70 ส่วนคะแนน การอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ หลังการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่ามีค่าเฉลี่ย 14.07 คะแนน ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 3.25 และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนที่สูงขึ้น ก่อนและหลังการใช้ พบว่ามีค่าเฉลี่ย 9.15 คะแนน ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.81 มีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.60 แสดงว่าผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น 0.60 หรือคิดเป็นร้อยละ 60
แสดงว่าการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้เพื่อแก้ปัญหาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นี้ส่งผลให้คะแนนการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ของนักเรียนสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัยในครั้งนี้ว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และสอดคล้องกับผลคะแนนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าร้อยละ 50
จากผลการวิจัย ทำให้ผู้วิจัยได้ค้นพบแนวทางในการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน นักเรียนได้ฝึกฝนซ้ำ ๆ จากแบบฝึกได้ด้วยตัวเอง โดยการเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้ผู้เรียนกล้าถามและกล้าออกเสียงมากกว่าการเรียนกลุ่มใหญ่ในห้องเรียนปกติและ ครูผู้สอนสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง ทำให้ผู้เรียนมีการพัฒนาการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำมากขึ้น นอกจากนี้ ครูผู้สอนสามารถใช้การสร้างแบบฝึกทักษะเป็นแนวทางในการพัฒนาเนื้อหาอื่น ๆ ต่อไป
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัย
1. ข้อเสนอแนะทั่วไป
ครูผู้สอนควรพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ ให้มีคำที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนพัฒนาทักษะและมีการฝึกฝนเพิ่มมากขึ้น
2. ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป
2.1 ควรพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.2 ใช้แบบฝึกทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ กับห้องกลุ่มนักเรียนปกติ และในระดับชั้นอื่น ๆ ที่เรียนวิชาภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำแท้ให้ดียิ่งขึ้น
2.3 ควรใช้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการฝึกทักษะ เพื่อให้ได้ผลและประสิทธิภาพที่ดี