ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนแบบปัญหาร่วมกับสร้างสรรค์เป็นฐาน ภายใต้เมกเกอร์สเปซ (The Creative Maker)
แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน มาจากทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism Theory) เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญญาเพื่อให้ผู้เรียนปรับโครงสร้างทางปัญญา โดยการจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐานก็มีพื้นฐานมาจากการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้วิจัยได้สังเคราะห์ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน จากนักการศึกษา 8 ท่าน ได้ผลการสังเคราะห์ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ดังต่อไปนี้ 1) ทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหา 2) ระบุปัญหาในสถานการณ์ 3) วิเคราะห์ปัญหา 4) ตั้งสมมติฐาน 5) กำหนดวัตถุประสงค์การแก้ปัญหา 6) ดำเนินการแก้ปัญหา 7) สังเคราะห์ความรู้ 8) ประเมินคุณค่าของคำตอบ 9) นำเสนอ อภิปราย และสรุปผลการเรียนรู้
แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานทฤษฎี Constructionism มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในด้านการใช้สื่อ เทคโนโลยี วัสดุ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมในการให้ผู้เรียนสร้างผลงานต่างๆ ด้วยตนเอง การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี ผู้วิจัยได้สังเคราะห์ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐาน จากนักการศึกษา 6 ท่าน ได้ผลการสังเคราะห์ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ดังต่อไปนี้ 1) สร้างแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ 2) การตั้งปัญหาและแบ่งกลุ่ม 3) ค้นคว้าหาความรู้เพื่อเป็นฐานการสร้างสรรค์ 4) สร้างสรรค์ผลงาน 5) นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ 6) ประเมินผลงานสร้างสรรค์
แนวคิดเมกเกอร์สเปซ (makerspace) เพื่อการศึกษา เป็นแนวคิดที่ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยผ่านการสร้างสรรค์ผลงานหรือชิ้นงานที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้บรรยากาศในการจัดกิจกรรมจะต้องเอื้อให้นักเรียนได้คิดค้น ประดิษฐ์และสร้างความสนใจ
จากการสังเคราะห์แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐานและแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน ผู้วิจัยได้บูรณาการขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ทั้งสองการจัดการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดเมกเกอร์สเปซเพื่อการศึกษา ดังรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนเป็นดังนี้
ขั้นที่ 1 สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ (Inspire to be creative)
ผู้สอนตรวจสอบความรู้เดิม (prior knowledge) ของผู้เรียนโดยใช้การทดสอบก่อนเรียน (pre-test) หรือการซักถามเพื่อให้มั่นใจว่า มีความรู้เดิมที่เพียงพอต่อการเรียนเรื่องใหม่ จากนั้นผู้สอนกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) ในการสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เรียนด้วยสื่อและวิธีการที่น่าสนใจและหลากหลาย เช่น ใช้เหตุการณ์หรือสถานการณ์ปัญหาที่น่าสนใจที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนและสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้เป้าหมาย หรือการใช้สื่อมัลติมีเดีย คลิปวิดีทัศน์ ภาพยนตร์สั้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับบทเรียน
ขั้นที่ 2 ระบุปัญหาและหาทางแก้ไข (Identify the problem and find solutions)
ผู้สอนให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มแบบคละความสามารถเก่ง ปานกลาง และอ่อน (mixed abilities group) จากนั้นให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหา ระบุปัญหาที่กลุ่มสนใจจะแก้ปัญหา ผู้เรียนทุกกลุ่มร่วมกันเลือกปัญหาของชั้นเรียน จากนั้นแต่ละกลุ่มร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาอย่างละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ลักษณะของปัญหา สาเหตุของปัญหา แนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ เงื่อนไขหรือปัจจัยในการแก้ปัญหา สิ่งที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นต้น โดยผู้สอนเป็นผู้กระตุ้น ให้คำปรึกษา และส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมกันทำงาน
ขั้นที่ 3 ตั้งสมมติฐานและกำหนดวัตถุประสงค์การแก้ปัญหา (Set hypothesis and problem solving goal)
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันระดมสมองเพื่อตั้งสมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับ โดยอาจตั้งได้มากกว่า 1 สมมติฐาน ในกรณีนี้ผู้เรียนต้องจัดลำดับความสำคัญของสมมติฐาน จากนั้นให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์การแก้ปัญหา โดยผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษาการตั้งสมมติฐานและการกำหนดวัตถุประสงค์การแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่ยกมา และออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาและคัดเลือกแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมตามความคิดเห็นของกลุ่ม
ขั้นที่ 4 ดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อเป็นฐานการสร้างสรรค์(Solve the problem for creating)
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่ได้ออกแบบไว้ พร้อมทั้งระดมสมองเพื่อระบุแนวทางการสร้างสรรค์แนวคิดหรือชิ้นงานใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแก้ปัญหานั้น ๆ ผู้สอนคอยกระตุ้น ให้กำลังใจ ชี้แนะแนวทางเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์แนวคิดหรือชิ้นงานใหม่ได้ และป้องกันความคลาดเคลื่อนในการทำกิจกรรม
ขั้นที่ 5 สร้างสรรค์ผลงาน (Create the product)
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานหรือชิ้นงานตามแนวทางที่ผ่านการระดมสมองในขั้นตอนก่อนหน้านี้ โดยผู้สอนคอยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ชี้แนะและให้กำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานหรือชิ้นงาน
ขั้นที่ 6 นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ (Present the created product)
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานหรือชิ้นงานสร้างสรรค์ต่อเพื่อนร่วมชั้นและผู้สอนโดยใช้สื่อและวิธีการที่หลากหลายและน่าสนใจ เช่น Info graphic บทบาทสมมติ ละครสั้น คลิปวิดีทัศน์ ภาพยนตร์สั้น จากนั้นเพื่อนร่วมชั้นและผู้สอนร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ (critique) และให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงผลงานหรือชิ้นงานสร้างสรรค์
ขั้นที่ 7 ขั้นประเมินผลงานและสรุปผลการเรียนรู้ (Evaluate and summarize learning)
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มประเมินผลงานหรือชิ้นงานสร้างสรรค์ของกลุ่มตนเอง (self-assessment) และกลุ่มเพื่อน (peer-assessment) ครูประเมินผลงานของนักเรียนตามสภาพจริง (authentic assessment) โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมและสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้จากนั้นผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้จากการสร้างสรรค์ผลงานหรือชิ้นงานโดยอาจแบ่งเป็นการเรียนรู้ด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์