ผู้ประเมิน : นายนนทวัชร์ ทาทอง
ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3
ปีการศึกษา : 2563 - 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการคุณธรรมนำความรู้สู่ความดี มีจิตอาสาเพื่อพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืนของโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการโดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมิน CIPPIEST Model 2) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียน ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ของนักเรียนระหว่างก่อนและหลังดำเนินการ ตามโครงการ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมความสำเร็จของโครงการ 4) เพื่อศึกษาการขยายผลโครงการสู่ชุมชนและหน่วยงานอื่น ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น 199 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 8 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ผู้ปกครองนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่1-3 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 91 คน นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1-3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 91 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในประเมินโครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น 120 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 8 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 76 คน และนักเรียน จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล จำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นจำนวน 8 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ จำนวน 3 ฉบับ และแบบวิเคราะห์เนื้อหา จำนวน 1 ฉบับ การหาคุณภาพของเครื่องมือได้แก่ ค่าความเชื่อมั่น (Reliability) และค่าความเที่ยงตรงเนื้อหา (Content Validity) และการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ (Percentage) การหาค่าเฉลี่ย (x̄) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) t-test และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการประเมินพบว่า
1.การประเมินโครงการโดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมิน CIPPIEST Model ของสตัฟเฟิลบีมและชิงฟีลด์ โดยประเมิน 8 ด้าน พบว่า ความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก(x̄ = 4.08, S.D. = 0.29) เมื่อแยกเป็นรายด้าน พบว่า การประเมินบริบทอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.23, S.D. = 0.34) การประเมินปัจจัยนำเข้าอยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.70, S.D. = 0.36) การประเมินกระบวนการอยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.92, S.D. = 0.20) การประเมินผลผลิตอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.06, S.D. = 0.41) การประเมินด้านผลกระทบอยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.99, S.D. = 0.32) การประเมินด้านประสิทธิผลอยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.96, S.D. = 0.25) การประเมินด้านความยั่งยืน อยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.95, S.D. = 0.33) และการประเมินด้านการถ่ายโยงความรู้อยู่ในระดับมาก(x̄ = 4.44, S.D. = 0.19)
2.ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียน ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ของนักเรียนระหว่างก่อนและหลังดำเนินการตามโครงการ พบว่า นักเรียนผ่านการประเมินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการศึกษาแนวทางการส่งเสริมความสำเร็จของโครงการ พบว่าเป็นโครงการที่เน้นการให้นักเรียนได้พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมผ่านการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม เปิดโอกาสให้หน่วยงาน องค์กรชุมชนและท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม มีผลงานในเชิงประจักษ์ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา และ โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ได้รับการรับรองคุณภาพเป็นโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ระดับ 4 ดาว และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากการดำเนินโครงการ
4. ผลการศึกษาการขยายผลโครงการ พบว่า โรงเรียนสตรีวิทยาสมาคมเป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม สามารถขยายผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สรุปได้ว่า โครงการคุณธรรมนำความรู้สู่ความดี มีจิตอาสาเพื่อพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืน ของโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม สามารถบริหารจัดการโครงการได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพบรรลุผลตามตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการได้ มีความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ เป็นโครงการที่ดีมีคุณค่า ทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีเพิ่มขึ้นในด้านคุณธรรม และจริยธรรม
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. หน่วยงานต้นสังกัด ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรส่งเสริมโครงการนี้เพราะเป็นโครงการที่สนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา และโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน เพื่อร่วมกัน สร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง
2. สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรนำผลจากการประเมินโครงการนี้ไปใช้วางแผนพัฒนาการดำเนินโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อเป้าหมายในการพัฒนานักเรียนในทุกมิติ
ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการครั้งต่อไป
1. ควรนำผลการประเมินโครงการที่ได้ เป็นข้อมูลในการตัดสินใจปรับปรุงกิจกรรมสำหรับนักเรียนเฉพาะกลุ่มเป็นรายกรณี (case by case ) เนื่องจากนักเรียนอาจมีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม อันเนื่องมาจากปัญหาเฉพาะบุคคล ซึ่งการใช้กิจกรรมแบบเดียวกันอาจไม่ประสบผลสำเร็จได้ตามที่คาดหวัง
2. ควรมีการประเมินโครงการ ซึ่งเป็นโครงการกิจกรรมอื่น ๆ โดยใช้รูปแบบการประเมินเดียวกันนี้