ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ
ปีการศึกษา 2563-2564 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี
คำสำคัญ ความเป็นเลิศทางวิชาการ, การบริหารจัดการ, การประเมินโครงการ
ผู้รายงาน นายภวัต งามคุณธรรม
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การรายงานการประเมินโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อประเมิน
โครงการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ปีการศึกษา 2563-2564 ของโรงเรียน
สวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี โดยใช้รูปแบบ
ซิปโมเดล (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) ประกอบด้วย การประเมินด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation : C), การประเมินปัจจัยนำเข้า(Input Evaluation : I),
การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation : P) และการประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P) และ 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อโครงการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ
ปีการศึกษา 2563-2564 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี ในด้านความเป็นเลิศทางวิชาการของนักเรียนตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน, ด้านครูได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและ ด้านผลงานรางวัลที่นักเรียน ครู ผู้บริหาร และโรงเรียนได้รับจากการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ปีการศึกษา 2563-2564 ได้แก่ ผู้บริหารและครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนบุคคลในชุมชน ผู้ปกครองนักเรียน และผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
ผลการประเมินโครงการในภาพรวมทุกด้าน มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อมในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน โดยผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็น 1) โครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความต้องการของนักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน 2) สภาพแวดล้อมของโรงเรียนมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการดำเนินโครงการ และ 3) กิจกรรมของโครงการช่วยให้นักเรียนมีการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ดีขึ้น ด้านปัจจัยนำเข้า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน โดยผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็น 1) บุคลากรในการดำเนินโครงการมีจำนวนมากเพียงพอสามารถแบ่งหน้าที่รับผิดชอบต่อโครงการได้ 2) โรงเรียนมีวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้เพียงพอและมีคุณภาพเหมาะสมต่อการดำเนินโครงการ และ 3) โรงเรียนมีเครือข่ายร่วมพัฒนาสถานศึกษาที่พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ ด้านกระบวนการ ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน
-2-
โดยผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็น 1) การแจ้งคุณลักษณะของผู้เรียนตามอัตลักษณ์ของโรงเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบโดยทั่วกัน 2) การประเมินผลและติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีการสรุปรายงานผลการปฏิบัติงานในรอบปีและนำผลการประเมินมาปรับปรุงการปฏิบัติงาน และ 3) มีการสะท้อนผลการดำเนินโครงการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการให้แก่ผู้ปกครอง ชุมชน หรือท้องถิ่น ได้รับทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ด้านผลผลิต ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมินโดยผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในประเด็น 1) นักเรียนได้รับการพัฒนาให้มีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน (มีความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี มีภาวะผู้นำฉลาดหลักแหลม และมีความรับผิดชอบ) อยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน 2) นักเรียนมีผลงานหรือได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านความสามารถหรือความเป็นเลิศทางวิชาการ อยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน และ 3) ครูผู้สอน โรงเรียน/ผู้บริหาร ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือทางวิชาการ อยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน ผลการประเมินความพึงพอใจ โดยภาพรวม พบว่า ผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี อยู่ในระดับมากที่สุด สูงกว่าเกณฑ์การประเมิน และเมื่อจำแนกรายด้าน พบว่า ด้านคุณภาพผู้เรียนตามคุณลักษณะอัตลักษณ์ของโรงเรียน (มีความเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี มีภาวะผู้นำ ฉลาดหลักแหลมและมีความรับผิดชอบ) มีผลความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจในประเด็น 1) นักเรียนมีความสุภาพ ปฏิบัติหรือแสดงออกต่อทุกคนด้วยความอ่อนน้อม
2) นักเรียนเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความโดดเด่นด้านทักษะวิชาการ และ 3) นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อการเรียน และรับผิดต่อตนเองในการปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับของโรงเรียน ด้านความสำเร็จของโครงการ มีผลความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจในประเด็น 1) นักเรียนสามารถนำความรู้และคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของโรงเรียนที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน 2) ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการด้วยความเต็มใจ และ 3) นักเรียน ครู ผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานฯ และผู้ปกครองนักเรียนเป็นเครือข่ายและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน