ผู้วิจัย : นายนนทวัชร์ ทาทอง
ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3
ปีการศึกษา : 2563 - 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องรูปแบบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่ 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม 4) เพื่อประเมินรูปแบบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในในชีวิตวิถีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม มีขั้นตอนในการวิจัย คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการพัฒนา เพื่อหาองค์ประกอบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิต วิถีใหม่ โดยสอบถามความคิดเห็นครูผู้สอนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3 จำนวน 233 คน ขั้นตอนที่ 2 สร้างรูปแบบโดยตรวจสอบรูปแบบและคู่มือด้วยการจัดสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบโดยครูผู้สอนในโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม จำนวน 9 คน และครูผู้สอนในเครือข่ายการจัดการศึกษาสังขะ 3 (ตาตุม - จารย์) จำนวน 12 คน รวม 21 คน ขั้นตอนที่ 4 ประเมินรูปแบบโดยครูผู้สอนในโรงเรียน สตรีวิทยาสมาคม จำนวน 9 คน และครูผู้สอนในเครือข่ายการจัดการศึกษาสังขะ 3 (ตาตุม - จารย์) จำนวน 12 คน รวม 21 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบประเมินรูปแบบ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Wilcoxon Signed Rank Test และข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์โดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1.สภาพปัจจุบันและความต้องการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ ในชีวิตวิถีใหม่ พบว่า สภาพปัจจุบันการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่ ระดับความคิดเห็นภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.70, S.D. = 0.36) และความต้องการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก(x̄ = 4.22, S.D. = 0.28) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า สภาพปัจจุบันด้านการใช้งานมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาเป็นด้านความเข้าใจ ด้านความเป็นครูในชีวิตวิถีใหม่ ด้านการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน ส่วนด้านการสร้างมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด และ ความต้องการพัฒนาด้านการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาเป็นด้านการสร้าง ด้านความเป็นครูในชีวิตวิถีใหม่ ด้านความเข้าใจ ส่วนด้านการใช้งานมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
2. รูปแบบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม พบว่า มี 5 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหาของรูปแบบ วิธีดำเนินการของรูปแบบ และ การประเมินรูปแบบ เพื่อให้เกิดผลพัฒนาครู ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่ใน 5 ด้าน คือ ด้านความเข้าใจ ด้านการใช้งาน ด้านการสร้าง ด้านการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน และ ด้านความเป็นครูในชีวิตวิถีใหม่ แล้วนำรูปแบบไปตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยการจัดสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship) พบว่า อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ความถูกต้องมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ตามลำดับ
3.ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม พบว่า ก่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดับความคิดเห็นของในการใช้รูปแบบภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (x̄ = 2.90, S.D. = 0.25) และหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดับความคิดเห็นของในการใช้รูปแบบภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.17, S.D. = 0.26) และครูที่ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการตามรูปแบบ มีความรู้ ความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในชีวิตวิถีใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
4.ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ในในชีวิตวิถีใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนสตรีวิทยาสมาคม ระดับความคิดเห็นในการใช้รูปแบบภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.35, S.D. = 0.28) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านความถูกต้องค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาเป็นด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และ ด้านความเป็นประโยชน์ตามลำดับ