บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการที่จำเป็นของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 2) พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยระยะที่ 1 เป็นการศึกษาข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จำนวน 10 คน และสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 จำนวน 25 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 3 ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 จำนวน 28 คนที่กำลังศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) และระยะที่ 4 ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบทดสอบความสามารถในการแก้ปัญหา จำนวน 20 ข้อ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ และ 6) แบบสอบถามความเหมาะสม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพความต้องการและความจำเป็น นักเรียน ครูและผู้เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้โดยการทำกิจกรรมกลุ่ม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างแท้จริง สื่อการเรียนรู้เป็นใบความรู้ ใบกิจกรรม ใบงาน และแบบทดสอบ มีการวัดผลโดยการใช้การทดสอบ
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ
2.1 ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องเวกเตอร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประกอบด้วย 1) หลักการและแนวคิด 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการจัดกิจกรรม 4) เนื้อหา 5) การประเมินผล
2.2 ผลการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่สร้างขึ้นมีค่าประสิทธิภาพ 82.08/81.22 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถ ในการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แบ่งเป็น
3.1 ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เท่ากับ 84.77/83.71 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
3.2 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน
3.2.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.2.2 ความสามารถในการแก้ปัญหา รายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แบ่งเป็น
4.1 ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก
4.2 ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เรื่อง ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและฟังก์ชันลอการิทึม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามความคิดเห็นของผู้บริหารและครู พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
การปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ หลังจากได้ทำการทดลองใช้แผนการจัดการเรียนรู้แล้ว ได้พบข้อควรปรับปรุงของแผนการจัดการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนในครั้งต่อไป ในแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 8-11 กราฟของฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียลและสมการของฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียล ต้องมีสื่อการเรียนรู้ที่เป็นสื่อดิจิตอล เทคโนโลยีให้เห็นเป็นสามมิติเพิ่มเข้าไป และการนำเรื่องดังกล่าวเชื่อมโยงในชีวิตประจำวันและนำเสนอให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ มีการปรับใบกิจกรรม ใบงานและแบบทดสอบท้ายแผนแต่ละแผนให้กระชับและไม่มากจนเกินไป