บทสรุปผู้บริหาร
ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียน
โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564
โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม
ผู้รายงาน นางสาวปาริฉัตร รัตนพันธ์
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาวิทยาคม
หน่วยงานที่สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร
ปีการศึกษา 2564
การประเมินโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนโดยใช้กิจกรรม การเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนและผลผลิตของการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์และเขียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ผู้ประเมินได้ใช้วิธีการประเมินตามแนวคิดรูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) นำมาใช้ในการประเมิน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูและบุคลากร ทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียน จำนวน 486 คน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมินครั้งนี้เป็นแบบประเมินผลการอ่าน การคิดวิเคราะห์และเขียน ที่โรงเรียนกำหนดและแบบสอบถามมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม โดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (α-Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach) ได้ค่า ความเชื่อมั่น 0.98 ผู้ประเมินวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1. การประเมินบริบทของโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม โดยภาพรวมมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ กิจกรรมการดำเนินโครงการมีความหลากหลายสอดคล้องกับความสามารถของครูและนักเรียน โครงการมีการกำหนดวิธีดำเนินงานและการวัดประเมินผลที่ชัดเจนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการส่วนหลักการ วัตถุประสงค์ของโครงการ สอดคล้องกับความต้องการของครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่นๆ
2. การประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม โดยภาพรวมมีความเหมาะสมและความเพียงพอ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่าบุคลากรในโรงเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา โรงเรียนจัดเตรียมเอกสารต่างๆ สื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ระยะเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมในแต่ละโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ ส่วนโรงเรียนมีปฏิทินการดำเนินโครงการ/กิจกรรมกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่นๆ
3. การประเมินกระบวนการของโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม โดยภาพรวมมีการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า ครูมีกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา มีการนำผลการนิเทศกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรม การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของครูมาปรับปรุงการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง การให้ความรู้ ประชุมชี้แจง การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ให้คณะกรรมการดำเนินงานและครูผู้สอนมีความเข้าใจขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน ส่วนการรายงานผลการจัดกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้ผู้บังคับบัญชาทราบอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ขยายผลต่อผู้ที่สนใจต่อไป มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่นๆ
4. การประเมินด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม ดังนี้
4.1 ผลการประเมินทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 มีผลการประเมินการอ่าน การคิดวิเคราะห์และการเขียนของนักเรียนอยู่ระดับดีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 91.80 ซึ่งผลการประเมินอยู่ระดับดีเยี่ยม และภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 คิดเป็นร้อยละ 97.60 ซึ่งผลการประเมินอยู่ระดับดีเยี่ยม
4.2 การประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564 โรงเรียน บ้านนาวิทยาคม โดยภาพรวม มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า ผลการดำเนินงานตามโครงการสนองนโยบายโรงเรียน/มาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน มีค่าเฉลี่ย สูงที่สุด รองลงมา คือ นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ มีความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน พัฒนาตนเองตามความสนใจและความถนัดอย่างเต็มตามศักยภาพ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียน ที่สูงขึ้น ส่วนนักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ของครูผู้สอน มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่นๆ
4.3 การประเมินความพึงพอใจในการดำเนินกิจกรรมของผู้เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า กิจกรรมที่กำหนดไว้ในโครงการมีความเหมาะสมกับนักเรียนและ มีความหลากหลาย มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา คือ การได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยความสามารถอย่างมีความสุข การได้คิดและลงมือปฏิบัติกิจกรรมจริงด้วยตนเอง ส่วนการได้แสดงความคิดเห็นหรือซักถามข้อสงสัยในชั้นเรียน มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าข้ออื่นๆ
คำสำคัญ : การประเมินโครงการ, พัฒนาทักษะ, การอ่าน การคิดวิเคราะห์ และเขียน, กิจกรรม
การเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning)