ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมของครู
ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18
ผู้วิจัย นางธนนันท์ คณะรมย์
ระยะเวลาการดำเนินการศึกษา พฤษภาคม 2563 เมษายน 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการนิเทศการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC สร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศ ศึกษาประสิทธิภาพของคู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศ และศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมของครู ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
เขต 18 วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1) การศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการนิเทศ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารและครู จำนวน 342 คน ได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
คือ แบบสอบถามสภาพปัจจุบันและปัญหาการนิเทศ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
2) การสร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของครู
ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 ตรวจสอบรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 ท่าน ประเมินและปรับปรุงรูปแบบด้วยกระบวนการสนทนากลุ่มโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศกับครูกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 36 คน ได้มาจากการ
สุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการนิเทศและการนำรูปแบบการนิเทศไปใช้ แบบประเมินความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม แบบนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมของครู แบบประเมินความพึงพอใจกระบวนการ นิเทศ ติดตาม และประเมินผล และแบบสอบถามข้อมูลการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพของนักเรียน สถิติที่ใช้
ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และคะแนนที
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพปัจจุบันและปัญหาของการนิเทศการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC (Assessing: A) พบว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่พบปัญหาระดับมากที่สุด คือ การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ และการจัดทำโครงสร้างรายวิชา ตามลำดับ 2) รูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมของครู ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ (1) การศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการนิเทศการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC (2) การวางแผนปฏิบัติการนิเทศ (Planning: P) (3) การให้ความรู้ก่อนการนิเทศ (Informing: I) (4) การปฏิบัติการนิเทศ (Doing: D) (5) การประเมินผลสรุปและรายงานผลการนิเทศ (Evaluating: E) และ (6) การเผยแพร่ ขยายผลสู่สาธารณชน (Joining Public and Sharing Outcomes: J) เรียกว่า รูปแบบการนิเทศ APIDEJ 3) ประสิทธิภาพ (E1/E2) ของคู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาหลักสูตร
รายวิชาเพิ่มเติมของครู ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
เขต 18 เท่ากับ 81.32/82.92 เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ 80/80 4) ผลการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมของครู ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 พบว่า 4.1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม หลังทดลองใช้รูปแบบการนิเทศมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนทดลองใช้รูปแบบการนิเทศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.2) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมโดยเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนหลังทดลองรูปแบบนิเทศกับเกณฑ์ร้อยละ 70 พบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ
การพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมหลังทดลองใช้รูปแบบการนิเทศของกลุ่มตัวอย่าง สูงกว่าเกณฑ์
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.3) ค่าเฉลี่ยระดับความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม
อยู่ในระดับความสามารถสูงทุกประเด็นการประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ประเด็นการประเมินที่มีระดับความสามารถสูงสุดคือ โครงสร้างรายวิชา รองมาเป็น แผนการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้ คำอธิบายรายวิชาเพิ่มเติม และโครงสร้างเวลาเรียนและโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ตามลำดับ 4.4) การประเมินความพึงพอใจของครูต่อรูปแบบการนิเทศ ใช้แบบประเมินความพึงพอใจกระบวนการนิเทศ ติดตาม และประเมินผล พบว่า โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ความพึงพอใจ 3 อันดับแรกคือ การให้คำแนะนำ คอยช่วยเหลือ สนับสนุน และให้คำปรึกษาของผู้นิเทศ รองลงมาคือรูปแบบการนิเทศ/กระบวนการนิเทศตรงวัตถุประสงค์ และคู่มือการนิเทศมีเนื้อหาเหมาะสม ตามลำดับ 4.5) ปริมาณการศึกษาต่อของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีการศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีพ
10 อุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านภาษา คิดเป็นร้อยละ 93.82 4.6) ปริมาณการประกอบอาชีพของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3และมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังจากการสำเร็จการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีพ 10 อุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านภาษา คิดเป็นร้อยละ 69.26