บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การรายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงรายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ปีการศึกษา 2564 โดยประยุกต์การนำเนื้อหาสาระจากรูปแบบเนื้อหาของซิปป์ (CIPP MODEL) ของ Daniel L. Stufflebeam ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1) ด้านสภาพแวดล้อม (Context) 2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) 3) ด้านกระบวนการ (Process) และ 4) ด้านผลผลิต (Product) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการรายงานครั้งนี้ ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วย ครูผู้รับผิดชอบงานโครงการ จำนวน 9 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ที่ไม่ใช่ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้แทนครู นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 74 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 66 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 156 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นการรายงานผลการดำเนินโครงการและแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ ฉบับที่ 1-3 แบบสอบถามผลการดำเนินโครงการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัย และด้านกระบวนการ สำหรับครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 4 แบบสอบถามผลการดำเนินโครงการด้านผลผลิตสำหรับกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู และผู้ปกครองนักเรียน และฉบับที่ 5 แบบสอบถามความพึงพอใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการสำหรับครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และผ่านเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงาน คือ ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.51 ขึ้นไป
ผลการดำเนินโครงการสรุปได้ ดังนี้
ส่วนที่ 1 ผลการประเมินการดำเนินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียน บ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จำนวน 6 กิจกรรม และผลที่เกิดแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนและชุมชน ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินโครงการ
ขั้นที่ 1 การวางแผน (P)
ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียนโดยจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม 6 ด้านหรือ 6 กิจกรรมตามสภาพแวดล้อม และแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ตามบริบทของโรงเรียนและสอดคล้องกับการสืบสาน อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมู่บ้านในเขตบริการของโรงเรียน รวมถึงสร้าง ความตระหนักและมีจิตสำนึกในการปลูกฝังคุณธรรมอันจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน โดยทุกฝ่ายเห็นด้วยกับปัญหาของสภาพปัจจุบันที่วิถีชีวิตคนในชุมชนรวมถึงนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยก้าง“รัฐประชาสงเคราะห์”เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการดำเนินชีวิตตามยุคสมัยใหม่ มีสื่อและเทคโนโลยี เข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้คนในชุมชน ไม่ตระหนักเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขาดคุณธรรม จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงรายขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าความเป็นผู้มีคุณธรรม มีจิตสำนึกในการทำความดี โดยให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
ขั้นที่ 2 การดำเนินการ (D)
ดำเนินการตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จำนวน 6 กิจกรรม ได้แก่
กิจกรรมที่ 1 อยู่อย่างพอเพียง ประกอบด้วย 1) เรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัว 2) ฝึกปฏิบัติการออมทรัพย์ ผลการดำเนินงานพบว่า นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 สามารถปฏิบัติได้จากการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) ฝึกปฏิบัติการรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ
กิจกรรมที่ 2 วินัยห้วยก้างรัฐ (คุณธรรมด้านความมีวินัย) ประกอบด้วย 1) การทำกิจกรรม หน้าเสาธง 2) การยิ้ม ไหว้ ทักทายกัน 3) ตัวไป – ไฟปิด 4) รองเท้าเข้าแถว 5) การเข้าคิวตามลำดับ ในการรับประทานอาหาร 6) การเดินชิดขวาของทางเดินหรือถนน ผลการดำเนินงานพบว่า นักเรียนมีวินัย ไม่มีการทะเลาะวิวาท มีมารยาท พูดจาสุภาพ กล่าวขอบคุณ ขอโทษได้ โรงเรียนสะอาด ยิ้มแย้ม แจ่มใส ไหว้ทักทาย ขอบคุณเมื่อรับของ หรือเมื่อได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่น เป็นต้น
กิจกรรมที่ 3 ป.ป.ช. สพฐ. น้อย ขับเคลื่อนความสุจริต (คุณธรรมด้านความซื่อสัตย์สุจริต) ประกอบด้วย 1) การเก็บของได้ส่งครูประกาศคืนเจ้าของ 2) ไม่ขโมยของและไม่โกหกพูดความจริง ทั้งต่อหน้าและลับหลังทั้งที่บ้านและโรงเรียน 3) ทิ้งขยะให้เป็นที่ 4) ตรงต่อเวลาและการไม่คัดลอกการบ้านของเพื่อนส่งครู ผลการดำเนินงาน พบว่า กิจกรรมที่ทำให้กรณีของหายลดน้อยลง โรงเรียนสะอาด จัดเก็บขยะเป็นระบบ เรียบร้อยสวยงาม ไม่มีนักเรียนมาสาย
กิจกรรมที่ 4 สืบสานความเป็นไทยและท้องถิ่น (คุณธรรมด้านความกตัญญูกตเวที) ประกอบด้วย 1) การแสดงการละเล่นมวยไทย ฟ้อนเล็บ ดนตรีไทย การตีกลอง ขนมไทย 2) การแต่งกายตามประเพณี ชุดพื้นเมืองทุกวันศุกร์ 3) ร่วมกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา มวยไทย ฟ้อนเล็บ การทำขนมไทย โดยวิทยากรจากปราชญ์ชาวบ้าน นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ในทุกสัปดาห์ละ 1 วัน และเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจากปราชญ์ชาวบ้านที่ได้กำกับติดตาม และสอนเทคนิควิธีการให้นักเรียน ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หลังจากจบโครงการ
กิจกรรมที่ 5 มนต์คนดีคืนคุณธรรมสู่ห้องเรียน (โครงงานคุณธรรม คุณธรรมด้านความรับผิดชอบ) ประกอบด้วย 1) ป.1 ฝึกวิทิสมาธิ ป.2 เด็กดีมีวินัยในตนเอง ป.3 ปรับพฤติกรรมดำรงธรรม ป.4-6 จัดทำโครงงานคุณธรรม ผลการดำเนินงานพบว่า นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถร่วมกันจัดทำโครงงานคุณธรรมตามระดับชั้นจนได้รับรางวัลในระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 หลายรายการ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีความรับผิดชอบมากขึ้น สร้างความสามัคคีในหมู่คณะได้เป็นอย่างดี
กิจกรรมที่ 6 จิตอาสาห้วยก้างรัฐ (คุณธรรมด้านความมีจิตอาสา) ประกอบด้วย 1) กิจกรรมการเข้าค่ายคุณธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 2) กิจกรรมหน่วยสีพัฒนา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 3) ครูพระสอนศีลธรรมชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 4) การเข้าร่วมกิจกรรมวันสำคัญ 5) การบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนและวัด มีความรู้เกี่ยวกับบริบทเขตบริการโรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์”ประวัติศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ล้านนา นักเรียนได้เรียนรู้การแสดงและการละเล่น (รำมวย ฟ้อนเล็บ) ซึ่งสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน วัด ผลของการทำกิจกรรมทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้าน โรงเรียน ได้รับความศรัทธาไว้วางใจจากชุมชนและทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของชาติพันธุ์พื้นเมืองล้านนา ที่สืบทอดกันมาและอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป
ขั้นที่ 3 การดำเนินการ (C)
ผู้บริหาร กำกับ ติดตาม ให้มีการดำเนินการตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ทั้ง 6 กิจกรรม พบว่า กิจกรรมสามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้ การดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ส่งผลให้โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ส่งผลให้มีคุณภาพสูงขึ้น
ขั้นที่ 4 การปรับปรุงแก้ไข (A)
ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน และชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย และ นำผลการดำเนินงานมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อไป ผลจากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
ทุกกิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และควรได้รับการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อคงสภาพที่ยั่งยืน
จากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย เกิดผลดีทั้งต่อนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนและชุมชน ส่งผลให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดทั้งโรงเรียน และผู้บริหารได้รับรางวัลที่เกิดจากการดำเนินงานในโครงการมากมาย แต่ยังพบปัญหาอุปสรรค ในด้านสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนในชุมชนรวมถึงนักเรียนขาดจิตสำนึกในความเป็นผู้มีคุณธรรมการรับเอาวัฒนธรรมใหม่ ละเลยวัฒนธรรม ประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ปราชญ์ชาวบ้านไปประกอบอาชีพอื่นทั้งในและนอกหมู่บ้าน ชุมชนขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ หวงแหน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำเนินโครงการ ต้องใช้กำลังคนและวัสดุ อุปกรณ์เป็นอย่างมาก และขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
ส่วนที่ 2 ผลการตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
ก. ผลการตอบแบบสอบถามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จากการตอบแบบสอบถามของ ครูผู้รับผิดชอบงานโครงการและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียน บ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” สรุปผล ได้ดังนี้
ตอนที่ 1 ผลการประเมินสภาพแวดล้อมของโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์”ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานและครูผู้รับผิดชอบโครงการประเมินผล พบว่า ในภาพรวม มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.76 ถ้าพิจารณารายข้อรายการ พบว่า รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายของโรงเรียน และ โครงการมีความเหมาะสมกับบทบาทและหน้าที่ของโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 5.00 ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ โครงการเหมาะสมกับศักยภาพและทรัพยากรของโรงเรียนและชุมชน อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.59 สรุปผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์ทุกรายการ
ตอนที่ 2 ผลการประเมินปัจจัยของโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์”ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูผู้รับผิดชอบโครงการ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.58 ถ้าพิจารณารายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ข้อ 3 ครู ทุกคนมีความตระหนักและเห็นความสำคัญโครงการ ข้อ 5 ความรู้ความสามารถของครูและบุคลากรที่ร่วมดำเนินงาน ข้อ 8 วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ในการดำเนิน โครงการเพียงพอ และข้อ 9 บริเวณและพื้นที่ ในการปฏิบัติงานตามโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.65 ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ข้อ 1 ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบโครงการมีความพร้อมและความสามารถในการดำเนินโครงการ ข้อ 6 โรงเรียน ได้มีงบประมาณสนับสนุนโครงการอย่างเพียงพอ ข้อ 7 ความเพียงพอของบุคลากรภายนอกที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้แก่บุคลากรในโรงเรียน และข้อ 10 ระยะเวลาในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุดมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.50 สรุปผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์ทุกรายการ
ตอนที่ 3 ผลการประเมินกระบวนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ของนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์”ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูผู้รับผิดชอบโครงการ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.69 ถ้าพิจารณาข้อรายการ พบว่า รายการมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ความร่วมมือจากผู้ร่วมงาน อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.90 สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ มีการศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการในการพัฒนาโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.54 สรุปผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์ทุกรายการ
ตอนที่ 4 ผลการประเมินผลผลิตจากการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของ นักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” ตามความคิดเห็นของ ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.59 ถ้าพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ คุณธรรมด้านความรับผิดชอบ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.61 ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ คุณธรรมด้านความกตัญญูกตเวทีอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.56 สรุปผลการดำเนินงานฝ่านเกณฑ์ทุกรายการ
ตอนที่ 5 ผลการประเมินความพึงพอใจของบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่มี ผลต่อการดำเนินการโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” ตามความคิดเห็นของ ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.72 กลุ่มที่มี ความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ครู อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.82 กลุ่มที่มีความพึงพอใจเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ นักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.54 สรุปผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์ทุกรายการ
ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะอื่นๆ ต่อการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียน บ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย มีดังต่อไปนี้
3.1 ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของครูผู้รับผิดชอบโครงการและคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานต่อการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
3.1.1 ควรจัดให้มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์มาช่วยสอนร่วมกับครูผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อให้วัฒนธรรม ประเพณี การดำเนินวิถีชีวิตให้คงอยู่สืบไป
3.1.2 ควรมีการนิเทศติดตามงานอย่างสม่ำเสมอให้มากขึ้น ทั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
3.1.3 จัดให้มีห้องแหล่งเรียนรู้ เกี่ยวกับ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นในโรงเรียน เช่น ห้องฝึกปฏิบัติงาน
3.1.4 ควรมีหลักสูตรท้องถิ่นโรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” ที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การใช้พัฒนาผู้เรียน
3.1.5 ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญของการใช้แหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณในการจัดกิจกรรมให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.2 ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนต่อการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยก้าง “รัฐประชาสงเคราะห์” อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
3.2.1 เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน เช่น การเยี่ยมบ้าน การให้ทุนการศึกษา การประชุม
3.2.2 กระตุ้นให้นักเรียนมีจิตสำนึกในบ้านเกิด ร่วมอนุรักษ์ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้เผยแพร่ และแสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อสาธารณชนให้มากขึ้น
3.2.3 ควรมีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการอย่างเพียงพอจากฝ่ายบริหาร
และขอความร่วมมือจากชุมชน เช่น การจัดผ้าป่า ศิษย์เก่า
3.2.4 ควรสนับสนุนผลผลิตของนักเรียนจากโครงการนี้ เช่น ผลผลิตจากการปลูกพืชผักสวนครัว การทำขนมไทย
3.2.5 ควรจัดกิจกรรมในโครงการอย่างต่อเนื่องและหลากหลายมากขึ้น เช่น ดนตรีพื้นบ้าน การฟ้อนรำ การทำขนมไทย