ชื่อเรื่อง การพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
The development of online teaching and learning integrated with scenario-based teaching of English courses for Grade 4 students.
ผู้วิจัย นางนงคราญ แมร์โรว์
ผู้วิจัยร่วม -
ปีที่ทำวิจัยเสร็จ พ.ศ.2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาประสิทธิภาพของการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน อบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู 2502) สังกัดกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 25 คน 1 ห้องเรียน คัดเลือกด้วยวิธีการจับสลากหน่วยห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ การเรียนการสอนออนไลน์ www.krunongkran.com และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานด้วย t-test
ผลการวิจัยพบว่า 1) ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ E1/E2=81.97/82.70 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และ 2) ผลการวิเคราะห์การตรวจสอบนัยสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยอาศัย การแจกแจงของ t-test พบว่านักเรียนมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ที่มาความสำคัญและปัญหาการวิจัย
ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ แต่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษก็ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ในหลายๆ ปีการศึกษาที่ผ่านมาของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ว่าจะเป็นผลสอบ O-NET หรือ GAT พบว่ามีคะแนนผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับต่ำ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่น ๆ พบว่า คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษแทบจะอยู่ในระดับต่ำสุด ชัชรีย์ บุนนาค (2018) ได้นำเสนอผลงานวิจัย ในการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับชาติครั้งที่ 2 : 2018 เกี่ยวกับปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ปี 2564 2568 โดยสรุปไว้ว่า 1) การเรียนการสอนภาษาอังกฤษยังไม่บูรณาการทั้ง 4 ทักษะ การฝึกปฏิบัติยังไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เน้นการสอนไวยากรณ์และท่องศัพท์ ส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษแบบการสื่อสารได้ ถึงแม้จะมีความพยายามในการจ้างครูต่างชาติ (ทั้งที่เป็นเจ้าของภาษาและไม่ใช่เจ้าของภาษา) มาเป็นครูผู้สอนในโรงเรียน แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร English Program ได้ มักเป็นโรงเรียนใหญ่ ๆ ประจำจังหวัด การแข่งขันสูง และค่าเทอมสูง นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลางหรือด้อยกว่า จึงมีโอกาสจำกัดในการเข้าศึกษา ในสถานศึกษาที่มีครูต่างชาติสอนสนทนา 2) วิธีจัดการเรียนการสอนยังไม่หลากหลายและไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของนักเรียน 3) จำนวนนักเรียนในชั้นเรียนมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถดูแลหรือจัดให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติได้อย่างทั่วถึง โรงเรียนอบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู 2502) สังกัดกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานักเรียนยังมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดเช่นกันซึ่งปัญหาที่สอดคล้องกันทำให้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง จากกระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน อาจจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียน และทำให้ประสบปัญหาต่อการเรียนในที่สุดก็เป็นได้
ดังนั้นการที่จะแก้ปัญหาที่กล่าวมาการจัดกระบวนการเรียนการสอนต้องสอดคล้องกับสถานการณ์จริง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย น่าสนใจและผ่อนคลาย โดยกิจกรรมเหล่านี้ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษาเสริมสร้างความมั่นใจและรู้วิธีการเรียนภาษาต่างประเทศ (วรางคณา เค้าอ้น, 2560) วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมอาจได้แก่ การเรียนแบบกระบวนการกลุ่ม โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมกันทำงานภายในแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสามารถแตกต่างกัน โดยจะมีการแสดงความคิดเห็นและการสนทนาร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงานกลุ่ม มีการช่วยเหลือพึ่งพากัน มีความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งส่วนตนเองและสมาชิกในกลุ่มจะทำให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ แนวคิดนี้จึงสอดคล้องกับ Thousand (2002 อ้างถึงใน ณมน จีรังสุวรรณ, 2555) กล่าวว่าแนวคิดของการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในกลุ่ม มีการคิดสิ่งใหม่ ๆ มีกลยุทธ์และวิธีการแก้ปัญหามากกว่าการทำงานรายบุคคล จากที่กล่าวมาทำให้ผู้วิจัยทำการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้โดยสถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ (Situation Based Learning) มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้เนื่องจากเป็นการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงที่ผู้เรียนอาจประสบในภายหลังการเรียนด้วยสถานการณ์ จะช่วยให้เกิดการถ่ายโยงความรู้ ผู้เรียนจะได้คิดแก้ปัญหาจากสถานการณ์ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการสื่อสารภาษาอังกฤษจากสถานการณ์ที่จำลองขึ้น สถานการณ์จะทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ในสถานการณ์และใช้ข้อมูลที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายกับข้อมูลในความเป็นจริงในการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยมีหลักการและการตัดสินใจในสถานการณ์จะส่งผลร่วมกับ ผู้ร่วมกิจกรรมหรือสมาชิกภายในกลุ่มเหมือน ในสถานการณ์จริง และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ทักษะทั้ง 4 ทักษะคือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ประเทศไทยเองก็เผชิญกับการระบาดนี้เช่นกัน ทำให้ประชาชนทุกคนต่างต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตการทำงาน โดยให้ทำงานอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายผลกระทบต่าง ๆ ส่งผลให้วงการศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยน จะเห็นได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยรอบแรกส่งผลให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถานศึกษา ปิดการเรียนการสอนชั่วคราวตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการรับมือกับการระบาดคือ Social distancing หรือการเพิ่มระยะห่างระหว่างกันในสังคม เพื่อป้องกันการระบาดจากคนสู่คน โดยมาตรการนี้ส่งผลดีกับทุกวงการทุกภาคส่วนแต่สำหรับวงการการศึกษาเองแล้วเกิดปัญหาการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากมีประกาศงด และการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นจึงมีการนำระบบการเรียนการสอนออนไลน์เข้ามาปรับใช้เพื่อดำเนินการเรียนการสอนต่อไป ซึ่งภายใต้วิกฤตินี้การสอนสดคือการสอนในเวลาและการถ่ายทอดการสอนให้ผู้เรียนในห้องเรียนนั้นจำเป็นต้องลดน้อยลง ต้องปรับมาใช้การสอนออนไลน์เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญ
ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่ผนวกหรือบูรณาการระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ (สุธาศินี สีนวนแก้ว และกานดา ศรอินทร์, 2552) นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระยะ พ.ศ. 2554-2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการนำพาคนไทยสู่ความรู้และปัญญา (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2554) และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการที่จะพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและผลการศึกษาจะทำให้เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อหาประสิทธิภาพของการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น
หลักการหรือแนวคิดเชิงทฤษฎีที่สนับสนุน
แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์
การเรียนการสอนออนไลน์ (Online learning) จัดเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีเรียนในรูปแบบเดิม ๆ ให้เป็นการเรียนใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการสอน นอกจากนี้ความหมายอีกในหนึ่งยังหมายถึง การเรียนทางไกล การเรียนผ่านเว็บไซต์ อีกด้วยการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online learning) จะเป็นเรียนทางผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ บวกเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสร้างการศึกษาที่มีปฏิสัมพันธ์คุณภาพสูง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง เกิดความสะดวกและเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ทุกสถานที่ ทุกเวลา เป็นการสร้างการศึกษาตลอดชีวิตให้กับประชากร
การเรียนการสอนแบบออนไลน์ เป็นการศึกษาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความชอบของตนเอง ในส่วนของเนื้อหาของเรียน ประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง VDO และMultimedia อื่นๆ สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งตรงไปยังผู้เรียนผ่าน Web Browser ทั้งผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นทุกคนสามารถติดต่อ สื่อสาร ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนทั่วไปโดยการใช้ E-mail, Chat, Social Network เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้แบบออนไลน์ จึงเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับทุกคนเรียนได้ทุกเวลา
ลักษณะสำคัญของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online learning) ผู้เรียนเป็นใครก็ได้อยู่ที่ใดก็ได้ เรียนเวลาก็ใด เอาตามความสะดวกของผู้เรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากโรงเรียนออนไลน์ได้เปิดเว็บไซต์ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีสื่อทุกประเภทที่นำเสนอในเว็บไซต์ ไม่ว่าจะทั้ง ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง VDO ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้เหตุภาพของเนื้อหาต่าง ๆ ง่ายดายมากขึ้นผู้เรียนสามารถเลือกวิชาเรียนได้ตามความต้องการเอกสารบนเว็บไซต์ที่มีการเชื่อมโยง (Links) ต่อไปยังแหล่งความรู้อื่นๆทำให้ขอบเขตการเรียนรู้ กว้างออกไปและเรียนอย่างรู้ลึกมากขึ้น
แนวคิดเกี่ยวกับสถานการเป็นฐานการเรียนรู้
ในการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐานเกิดขึ้นจากการผสมผสานแนวคิดการจัดการการเรียนรู้ 3 แนวคิดเข้าด้วยกัน คือ การเรียนรู้โดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐาน การปล่อยความรับผิดชอบทีละน้อย และการเสริมต่อการเรียนรู้ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เป็นการเตรียมความพร้อมผู้เรียนก่อนเข้าสู่การทำงานจริง หลักการสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐานอยู่ที่การออกแบบสถานการณ์ให้ใกล้เคียงกับสภาพจริงมากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนฝึกการทำงานร่วมกันในการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหา ฝึกทักษะการคิด การเลือกสรรข้อมูล การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ
ลักษณะของการสอนตามแนวการเรียนรู้โดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐานมีความแตกต่างจากการสอนแบบดั้งเดิม (Traditional approach) โดยเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน คิดแก้ปัญหาที่ไม่มีคำตอบตายตัวล่วงหน้า ผู้สอนเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ในขณะที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในกลุ่ม การเรียนรู้จึงเป็นไปอย่างมีพลวัตร และเกิดการเรียนรู้เชิงลึก การเรียนรู้โดยใช้ฉากสถานการณ์เป็นฐานมีความท้าทายผู้เรียนและสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการทั้งของผู้เรียน (Kindley, 2002)
ระเบียบวิธีการวิจัยและแผนการวิจัย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน อบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู 2502) สังกัดกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต จำนวน 4 ห้องเรียน 95 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้งานการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน อบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู 2502) สังกัดกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 25 คน 1 ห้องเรียน คัดเลือกด้วยวิธีการจับสลากหน่วยห้องเรียน แต่ละห้องเรียนประกอบด้วยนักเรียนที่คละความสามารถนักเรียนแต่ละห้องจึงมีคุณสมบัติไม่แตกต่างกัน
ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย
ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ตัวแปรตาม ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพของกิจกรรม และ 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
แบบแผนการทดลอง
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยทดลอง (pre-experimental design) ใช้แบบแผนการทดลองแบบหนึ่งกลุ่ม One Group Pre test Post test Design (Fitz-Gibbon, 1987 : 113)
กลุ่มทดลอง Pretest Treatment Posttest
N T1 X T2
เมื่อ N แทน กลุ่มทดลอง
T1 แทน การทดสอบก่อนการทดลอง (Pre-test)
X แทน การเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษ
T2 แทน การทดสอบหลังการทดลอง (Post-test)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1. การเรียนการสอนออนไลน์ www.krunongkran.com
2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
การเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน อบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู 2502) โดยได้ดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองตามขั้นตอนดังนี้
1. ผู้วิจัยได้อธิบายชี้แจงทำความเข้าใจและข้อตกลงกับนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการเรียน เวลาเรียน และวิธีการในการจัดการเรียนรู้ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการจริยธรรมวิจัย
2. ให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) และเก็บคะแนนการสอบไปเปรียบเทียบกับผลหลังเรียน
3. อธิบายและชี้แจงกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ให้นักเรียนเข้าใจ
4. ดำเนินการสอนโดยใช้การเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษ ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น
5. หลังจากทำการทดลองครบตามแผนการจัดการเรียนรู้แล้วผู้วิจัยได้ทำการทดสอบหลังเรียน (Post-test) โดยใช้แบบทดสอบชุดเดียวกับก่อนเรียน (Pre-test)
6. นำคะแนนที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบทดสอบมาวิเคราะห์โดยใช้วิธีการทางสถิติ
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. วิเคราะห์หาประสิทธิภาพของการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
2. เปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังเรียน โดยหาค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการหาค่าทางสถิติ (Paired t-test) ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป
สถิติที่ใช้ในการวิจัย
1. สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ 1) หาค่าความสอดคล้อง (IOC) แบบทดสอบมีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างแบบทดสอบกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตั้งแต่ 0.66 1.00 ขึ้นไปจำนวน 40 ข้อ 2) หาค่าความยากง่าย (p) ขอบแบบทดสอบโดยมีค่าระดับความยากตั้งแต่ 0.36 0.76 และค่าอำนาจจำแนก (r) ของแบบทดสอบโดยมีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.43 0.51 และ 3) หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบมีค่าเท่ากับ 0.73
2. สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้ 80/80 (E1/E2) และทดสอบสมมติฐานค่าเฉลี่ยของประชากรสองกลุ่มที่ไม่เป็นอิสระจากกันด้วยสูตร t-test (Dependent sample)
ผลการวิจัย
ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อทดสอบสมมติฐานการวิจัย
ตารางที่ 1 ประสิทธิภาพของการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
จำนวนนักเรียน ประสิทธิภาพของกระบวนการ(E1) ประสิทธิภาพของผลลัพธ์(E2)
25 81.97 82.70
ประสิทธิภาพ E1/E2 = 81.97/82.70
จากตารางที่ 1 ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ E1/E2 =81.97/82.70 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน โดยก่อนการทดลองได้ทำการทดสอบก่อนเรียนและหลังการทดลองทำการทดสอบด้วยแบบทดสอบหลังเรียน ซึ่งแบบทดสอบก่อนเรียนและแบบทดสอบหลังเรียนเป็นแบบทดสอบชุดเดียวกัน หลังจากนั้นนำคะแนนที่ได้มาคำนวณหาค่าการแจกแจงของ t-test ผลการวิเคราะห์แสดงไว้ในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ผลการวิเคราะห์การตรวจสอบนัยสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน
กลุ่ม n
t
คะแนนก่อนเรียน 25 25.16 210 2742 4.10*
คะแนนหลังเรียน 25 33.56
* p < .05
จากตารางที่ 2 ค่าเฉลี่ยของคะแนนการทดสอบก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ย 25.16 และคะแนนการทดสอบหลังเรียน มีค่าเฉลี่ย 33.56 แสดงว่าคะแนนเฉลี่ยการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยการทดสอบก่อนเรียน ผลการวิเคราะห์การตรวจสอบนัยสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยอาศัยการแจกแจงของ t-test พบว่านักเรียนมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
การอภิปราย
ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ E1/E2 =81.97/82.70 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับนพรัตน์ ทองมาก (2558) ได้ทำการศึกษาการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเรื่องภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันโดยใช้รูปแบบปฏิบัติเป็นฐานการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเรื่องภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันโดยใช้รูปแบบปฏิบัติเป็นฐานการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ทิศนา แขมมณี (2552) ได้กล่าวว่า วิธีสอนโดยการใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้คือกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนลงไปเล่นในสถานการณ์ที่มีบทบาท ข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริง และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆที่อยู่ในสถานการณ์นั้นๆ โดยใช้ข้อมูลที่มี สภาพคล้ายกับข้อมูลในความเป็นจริง โดยนักเรียนซึ่งเรียกว่าผู้ร่วมสถานการณ์ (participants) จะมีปฏิสัมพันธ์ กับเหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ ผู้เรียนจะใช้ภาษาในการสื่อสารของตัวเองในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถ ตัดสินใจได้โดยอิสระอย่างเหมาะสมกับบทบาทของตัวเอง และบทบาทของผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย
ผลการวิเคราะห์การตรวจสอบนัยสำคัญของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยอาศัยการแจกแจงของ t- test พบว่านักเรียนมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สอดคล้องกับวารี โรจนดิษฐ์ (2560) ได้ทำการศึกษาพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 สาขาการบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ในพระอุปถัมภ์ฯพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะด้าน การสื่อสารภาษาอังกฤษโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ ของนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง คะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่าง โดยหลังเรียนได้ค่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เช่นเดียวกับ วรางคณา เค้าอ้น (2560) ได้ทำการศึกษาการพัฒนาการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้พบว่า ผลการศึกษาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโกวิทธำรงพบว่าคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะ
1. การเรียนการสอนออนไลน์บูรณาการร่วมกับการสอนโดยใช้สถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ควรนำไปใช้ในห้องเรียนให้มากขึ้นโดยเลือกใช้ตามความเหมาะสมเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนเน้นให้นักเรียนได้เป็นผู้ปฏิบัติและเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ จะทำให้นักเรียนเกิดทัศนคติที่ดี
2. การจัดการเรียนรู้โดยสถานการณ์เป็นฐานการเรียนรู้ก่อนที่จะทำการทดสอบวัดทักษะ ผู้สอนควรจะสร้างบรรยากาศในการส่งเสริมให้นักเรียนไม่เกิดแรงกดดันมากเกินไปซึ่งจะทำให้นักเรียนวิตกกังวลก่อนการทดสอบ หรือในขณะที่ทำการทดสอบก็ตาม ดังนั้นการสร้างบรรยากาศอาจทำได้โดยไม่มีกรรมการสอบแบบต่อหน้าอาจจะใช้วิธีการบันทึกการสอบเป็นวิดิทัศน์เป็นต้น