ชื่อเรื่อง รายงานการใช้คู่มือนิเทศการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning)
เพื่อพัฒนาครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 (เชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน)
ผู้วิจัย สุธาสินี ก้อนใจ
ปีที่ทำเสร็จ 2564
บทคัดย่อ
รายงานการนิเทศครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของคู่มือนิเทศการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังการใช้คู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อคู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายหลังการใช้คู่มือนิเทศ เรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ ได้แก่ ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 (เชียงใหม่ -แม่ฮ่องสอน) จำนวน 45 คน ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ปีการศึกษา 2563 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนกับครูกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 226 คน ปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1. คู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) จำนวน 8 เล่ม 2.แบบประเมินคุณภาพของคู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 13 ข้อ จำนวน 1 ฉบับ 3.แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) มีลักษณะเป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบมี 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ จำนวน 1 ฉบับ 4.แบบประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อคู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ จำนวน 1 ฉบับ และ 5.แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อ การจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ จำนวน 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ได้แก่ 1. วิเคราะห์ค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาของคู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โดยใช้ดัชนีความสอดคล้องของผู้เชี่ยวชาญ (IOC) 2. วิเคราะห์หาประสิทธิภาพของคู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้ แบบเชิงรุก (Active Learning) โดยใช้ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3. วิเคราะห์หาค่าความยากง่ายและค่าอำนาจจำแนกของของแบบทดสอบความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โดยใช้เทคนิคกลุ่มสูง กลุ่มต่ำ 4. วิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่นของของแบบทดสอบความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โดยใช้สูตร KR.20 5. วิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามความพึงพอใจ จากสูตรสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค 6. ศึกษาความพึงพอใจ ของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อคู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โดยใช้ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 7. ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายหลังการใช้คู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) โดยใช้ค่าเฉลี่ย และ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการศึกษา
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1. คู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) มีประสิทธิภาพ เท่ากับ
87.46/86.83 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และได้ผ่านเกณฑ์การประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ
ทุกข้อรายการประเมิน
ผลการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายหลังการใช้คู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) พบว่า สาระที่ครูผู้สอนต้องการพัฒนาส่วนใหญ่อยู่ในสาระวิทยาศาสตร์โลก และอวกาศ (ร้อยละ 33.33) ครูผู้สอนได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนจำนวน 2 ข้อ (ร้อยละ 46.67) ส่วนใหญ่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ร้อยละ 31.11) ใช้แบบฝึกทักษะเป็นนวัตกรรม ในการแก้ปัญหา (ร้อยละ 55.56) มีการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 3 แผน (ร้อยละ 33.33) เครื่องมือที่ใช้ในเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถาม แบบสังเกตพฤติกรรม แบบสัมภาษณ์ และแบบวัดผลงานภาคปฏิบัติ มีการหาคุณภาพเครื่องมือประกอบการจัดการเรียนทุกชนิดโดยการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ (ร้อยละ 100.00) นอกจากนั้นมีการหาคุณภาพของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการการเรียนโดยใช้ค่าอำนาจจำแนก ค่าความยากง่าย และค่าความเชื่อมั่น (ร้อยละ 62.50) หาคุณภาพของแบบประเมินความพึงพอใจ โดยหาค่าความเชื่อมั่น (ร้อยละ 25.00) ใช้สถิติ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคำนวณทางสถิติในการคำนวณ ใช้เวลาในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนระหว่าง 1 - 2 ภาคการศึกษา และมีผลการวิจัยในชั้นเรียนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ (ร้อยละ 100.00)
2. ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเรียนเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) เพิ่มขึ้น 8.84 คะแนน หรือ คิดเป็นร้อยละ 34.16
3. ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความพึงพอใจต่อคู่มือนิเทศ เรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายหลังการใช้คู่มือนิเทศเรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active
Learning) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก