รายงานการวิจัยในชั้นเรียน
เรื่อง ผลลัพธ์การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการรู้จักตัวเลขและค่าของตัวเลข 1-10 ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 3
ผู้วิจัย นางสาวสุพรทิพย์ ต๊ะนะวงค์
ความสำคัญและที่มาของปัญหา
การศึกษาปฐมวัย เป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ อย่างเป็นองค์รวม บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
จากปรัชญาการศึกษาปฐมวัยตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 2560 ดังกล่าว การจัดการเรียนการสอนของครูประจำชั้นจึงต้องมุ่งเน้น ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดยครอบครัวต้องมีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กร่วมไปกับโรงเรียน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนมากมาย ปัญหาหนึ่งที่ข้าพเจ้าพบคือ นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักตัวเลขและค่าของตัวเลข 1-10 เนื่องจากขาดการทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นักเรียนลืมไม่สามารถจดจำตัวเลขได้อย่างแม่นยำ
เมื่อเกิดปัญหาที่ขึ้นในชั้นเรียน ข้าพเจ้าจึงวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคลเพื่อให้รู้จักและทราบปัญหาของแต่ละคน และคิดหาวิธีแก้ปัญหานักเรียนที่ยังไม่รู้จักตัวเลขและค่าของตัวเลข 1-10 ต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ในด้านการรู้ค่าของจำนวนและการจดจำตัวเลข 1-10 ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนวัดทรงธรรม
ขอบเขตการวิจัย ขอบเขตด้านเนื้อหา
การพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ในการบอกค่าของจำนวนและด้านการจดจำตัวเลข 1-10 ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 ด้วยกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม พร้อมกับทำชุดกิจกรรม ดังนี้
1.กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ให้นักเรียนร้องเพลงพร้อมกับดีดนิ้วมือประกอบ 1 2 3 4 กิจกรรมท่องบทกลอนปลาว่ายน้ำ พร้อมทำท่าประกอบ กิจกรรมท่องบทกลอนลักษณะของตัวเลข และฝึกเขียนตัวเลขกลางอากาศ
2. กิจกรรมเสริมประสบการณ์ ประกอบด้วยเนื้อหาการเรียนรู้ คือ
- การรู้จักตัวเลขอารบิค และเลขไทย 1-10 พร้อมทำชุดกิจกรรม
- การรู้จักค่าของจำนวน 1-10 พร้อมทำชุดกิจกรรม
- การเปรียบเทียบจำนวนมากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากับ พร้อมทำชุดกิจกรรม
- การเรียงจำนวนจากมากไปหาน้อย และ จากน้อยไปหามาก พร้อมทำชุดกิจกรรม
- การบวก และ การลบ พร้อมทำชุดกิจกรรม
การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ครูใช้สื่อแม่ไก่นับเลข ประกอบการจัดกิจกรรม และบูรณาการการเรียนรู้จักตัวเลขเข้ากับหน่วยการเรียนรู้ และกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย
3. กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ให้นักเรียนวาดภาพต่อเติมจากตัวเลข 1-10 เช่น วาดเลข 1 เป็นรูปเสาธง เลข 2 เป็นคอห่าน เป็นต้น
4. กิจกรรมเสรี ให้นักเรียนเลือกเล่นของเล่นตามศูนย์การเรียนรู้ที่สนใจ
5. กิจกรรมกลางแจ้ง ให้นักเรียนออกกำลัง และเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะการนับตัวเลขเรียงลำดับ 1-10 เช่น ปรบมือ 10 ครั้ง,ตบตัก 5 ครั้ง,แตะไหล่ 7 ครั้ง เป็นต้น
6. กิจกรรมเกมการศึกษา ให้นักเรียนเล่นเกมโดมิโนตัวเลข เกมการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวกับตัวเลข
เครื่องมือในการวิจัย
1. ชุดกิจกรรม
2. สื่อแม่ไก่นับเลข
3. ผลงานนักเรียน
จากการใช้ชุดกิจกรรม สื่อแม่ไก่นับเลข และกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมเพื่อพัฒนาการรู้จักตัวเลขและค่าของตัวเลข 1-10 ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 ปีการศึกษา 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ในการบอกค่าของจำนวน 1-10 และจดจำตัวเลขได้ ผลการพัฒนามีรายละเอียด ดังนี้
1. นักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ดีในการพัฒนาการรู้จักตัวเลข 1-10 โดยใช้ชุดกิจกรรมและสื่อแม่ไก่นับเลข มีจำนวนทั้งหมด 22 คน
2. นักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ในการพัฒนาการรู้จักตัวเลข 1-10 โดยใช้ชุดกิจกรรมและสื่อแม่ไก่นับเลข มีจำนวนทั้งหมด 5 คน
อภิปรายผล
จากผลการวิจัยที่พบว่า นักเรียนชั้นอนุบาล 3 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนวัดทรงธรรม ที่ร่วมกิจกรรมมีพัฒนาการในการรู้จักตัวเลขและค่าของตัวเลขได้แม่นยำทั้งหมด 22 คน อาจเนื่องมาจากนักเรียนมีพื้นฐานความรู้เดิมมาแล้วและได้รับการพัฒนาการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง หรือเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ของจอห์น ดิวอี้ (Dewey,1994:34-35 อ้างใน ธีรนาฎ เบ้าคำ,2553:115) ที่กล่าวว่า นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง สำหรับนักเรียนที่ยังรู้จักตัวเลขได้ไม่แม่นยำหรือยังจำตัวเลข 1-10 ไม่ได้ มีทั้งหมด 5 คน ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยให้ผู้ปกครองได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้นักเรียนได้จำตัวเลขแม่นยำขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อไป
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในด้านกิจกรรมการเรียนรู้
1.1 ควรจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
1.2 ผู้วิจัยควรมีการพัฒนาสื่อ / นวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของการจัดกระบวนการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21
2. ข้อเสนอแนะเพื่อทำวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อและนวัตกรรมในรูปแบบอื่น ๆ
2.2 ควรมีการวิจัยเรื่องการปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนต่อไป