๔. ความสำคัญของนวัตกรรม
การคูณ เป็นทักษะที่สำคัญเพราะเป็นทักษะทางคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการเรียนคณิตศาสตร์ชั้นสูง รวมทั้งเป็นทักษะที่สัมพันธ์กับการบวก การลบ และการหาร ทักษะการคูณต้องอาศัยทักษะการบวกเป็นพื้นฐาน ส่วนการลบและการหารต้องอาศัยการบวกและการคูณ ดังนั้นถ้านักเรียนมีทักษะการคูณที่ดีจะทำให้มีทักษะอื่น ๆ ตามไปด้วย เมื่อไปศึกษารายละเอียดของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้วพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ บางคนท่องสูตรคูณไม่คล่อง ทำแบบฝึกหัดได้คำตอบไม่ถูกต้องและใช้เวลานาน และผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ ผลการประเมินยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และในฐานะครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ได้ตระหนักถึงปัญหา ดังกล่าว จึงหาแนวทางที่จะพัฒนาปรับปรุงแก้ไขด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนการสอน คือ การหาสื่อหรือกิจกรรมเสริม มาประกอบการเรียนการสอน เพื่อกระตุ้นความสนใจและการเรียนรู้ของนักเรียน โดยจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในช่วงว่าง หรือหลังพักรับประทานอาหาร พบว่านักเรียนจะชอบเล่นเกม
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เกมมีประโยชน์ช่วยให้นักเรียน นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน และเป็นการพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียนไปโดยที่ผู้เรียนไม่รู้ตัว รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการทำงานและอยู่ร่วมกัน (คณาภรณ์ รัศมีมารีย์. ๒๕๕๕)
ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ได้เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุด หรือจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนนั้นๆ ด้วย เพราะเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนแล้ว จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ จดจำ ไม่เพียงแต่จะได้ความรู้และผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ผู้เรียนยังจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย การสอนโดยใช้เกมจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนสนุกสนานในการเรียนและทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาจากบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น (ทิศนา แขมมณี. ๒๕๕๐ : ๓๖๕)
ดังนั้นผู้รายงานจึงมีความสนใจที่จะเกมมาประยุกต์ใช้กับการเรียนคณิตศาสตร์ โดยได้ทำการสร้าง เกมคณิตคิดสนุก เล่นเพื่อการเรียนรู้ (Play to Learning) เรื่องการคูณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เพื่อพัฒนาความรู้ แก้ปัญหาการท่องสูตรคูณไม่คล่อง และฝึกทักษะการคูณ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เพื่อให้นักเรียนใช้ฝึกได้ทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน โดยมุ่งหวังว่าเมื่อนำเกมมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนแล้วจะช่วยแก้ปัญหาการท่องสูตรคูณไม่คล่อง และพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับ การคูณ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนชั้นสูงต่อไป รวมทั้งเพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียน เกิดความรู้สึก ที่ดีเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์ เป็นการพัฒนา การสอนคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์สูงขึ้นด้วย
๕. วัตถุประสงค์
๕.๑ เพื่อแก้ปัญหาการท่องสูตรคูณไม่คล่องของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
๕.๒ เพื่อศึกษาหาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยวิธีการสอน
โดยใช้เกม เรื่อง การคูณ
๕.๓ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดคำนวณ และความรวดเร็วเรื่องการคูณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
๖. กลุ่มเป้าหมาย
๖.๑ ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
๖.๑.๑ ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๖๔ โรงเรียนบ้านขุนชำนาญ
จำนวน ๒๖ คน
๖.๑.๒ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๖๔
โรงเรียนบ้านขุนชำนาญ จำนวน ๑๒ คน โดยการเลือกแบบเจาะจงจากนักเรียนที่คุณลักษณะ
ท่องสูตรคูณ คำนวณการคูณยังไม่คล่อง
๗. หลักการ แนวคิด ทฤษฎี
ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนนั้นมีวิธีการการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น บรรยาย สาธิต หรือบทบาทสมมติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกิจกรรมกับเนื้อหาที่จะนำเสนอ ในการจัดทำนวัตกรรมครั้งนี้ผู้รายงานได้นำรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนเรื่องการคูณ โดยใช้เกม เพื่อกระตุ้นความสนใจให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
ทิศนา แขมมณี (๒๕๔๔ : ๘๑๘๕) กล่าวว่า การเรียนรู้โดยใช้เกม เป็นกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้นักศึกษาเล่นเกมตามกติกา และนำเนื้อหาและข้อมูลของเกม พฤติกรรมการเล่น วิธีการเล่น และผลของการเล่นเกมของนักศึกษามาใช้ในการสรุปการเรียนรู้โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างสนุกสนานและท้าทายความสามารถ โดยนักศึกษาเป็นผู้เล่นเอง ทำให้ได้ประสบการณ์ตรง เป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมสูง
๘. ขั้นตอนการดำเนินงาน/การออกแบบหรือพัฒนานวัตกรรม
๘.๑ ขั้นตอนการดำเนินงาน
ในการจัดทำนวัตกรรมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะการคิดคำนวณ ในการแก้ปัญหาการคูณ
จำนวนนับ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โดยยึดหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และได้ดำเนินการซึ่งมีรายละเอียดเป็นขั้นตอนดังนี้
๘.๑.๑ ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาการสอนโดยใช้เกมฝึกคิดเป็น
สื่อการสอนเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและหลังเรียน
๘.๑.๒ ศึกษาวิธีการสร้างเกมด้วยโปรแกรม หรือเว็บไซต์ต่างๆ
๘.๑.๑ เลือกออกแบบชิ้นงานโดยใช้เว็บไซต์ Wordwall สร้างเกม เรื่องการคูณ
๘.๑.๓ นำสื่อไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนและให้นักเรียนได้ฝึกเล่นฝึกคิด
๙. ผลสำเร็จของการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรม
การใช้นวัตกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้เกมการเรียนรู้ เกมคณิตคิดสนุก เล่นเพื่อการเรียนรู้
(Play to Learning) เรื่องการคูณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ พบว่า
๙.๑ นักเรียนท่องสูตรคูณได้คล่องมากขึ้น
๙.๒ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการคูณ สูงขึ้นหลังเรียนด้วยชุดการสอน
๙.๓ นักเรียนมีทักษะการคิดคำนวณ และความรวดเร็วเรื่องการคูณได้ดีมากยิ่งขึ้น
๑๐. แนวทางการนำนวัตกรรมไปใช้
๑๐.๑ สามารถนำนวัตกรรม เกมคณิตคิดสนุก เล่นเพื่อการเรียนรู้ (Play to Learning) เรื่องการคูณ
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เล่นในเวลาว่างได้ เพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย และยังได้
ความรู้ เรื่องการคูณเพิ่มอีกด้วย
๑๐.๒ ใช้เพื่อเป็นสื่อในการสอนเรื่อง การคูณ ของนักเรียนชั้นประถมต้นได้ และยังสามารถต่อยอด
ประยุกต์กับเรื่องอื่น หรือวิชาต่างๆ ได้อีกด้วย