การวิจัยนี้ใช้กรอบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและประเด็นที่จำเป็นต่อการพัฒนาสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคม 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคม 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคม และ 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคม กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนบ้านหนองไผ่ล้อม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3 มีการวิจัย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหา (Research: R1) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ 1) ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน
ครูประจำชั้น และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development: D1) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ 1) ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ครูประจำชั้น คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาคณะทำงาน โดยใช้แบบบันทึกการประชุมและแบบวิเคราะห์รูปแบบการบริหารสถานศึกษา ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้ (Research: R2) กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ครูประจำชั้น โดยใช้แบบบันทึกการปฏิบัติงาน และแบบบันทึกประจำวัน และขั้นตอนที่ 4 การประเมินและปรับปรุง (Development: D2) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษา ได้แก่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ครูประจำชั้น คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาคณะทำงาน โดยใช้แบบประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษา และกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการประเมินความพึงพอใจในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ได้แก่ ผู้ปกครองของนักเรียน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 - 6 ปีการศึกษา 2564 โดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองไผ่ล้อม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation) สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดำเนินการวิจัยระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
ผลการศึกษาพบว่า
1. มีปัญหาในด้านบุคลากรและความชัดเจนของระบบการปฏิบัติงานและมีปัญหาในด้านการจัดการทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ที่ยังขาดแคลนและขาดความสมบูรณ์ในเชิงองค์ความรู้ และผู้บริหาร ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคมของนักเรียน ให้เป็นระบบและมีรูปธรรมชัดเจน
2. รูปแบบการบริหารพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคมของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่ล้อม (Nongphailom Healthy School Model) มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่
1) ปัจจัยเชิงนโยบายและองค์ความรู้ 2) การขับเคลื่อน 3) ปัจจัยสนับสนุน และ 4) กำหนดเป้าหมาย
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคมของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่ล้อม ในการเตรียมการมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการทำงาน ประชุมร่วมกับครูและคณะทำงาน และดำเนินงานมีการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้ มีการตรวจแผนปฏิบัติการ
การระดมความคิดเห็น การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลทุกขั้นตอนโดยมีการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครองและชุมชน
4. ผลการประเมินในภาพรวมรูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตสังคมของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่ล้อม ที่พัฒนาขึ้นมีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด และนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านหนองไผ่ล้อม ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด