ผู้วิจัย นางแสงเดือน สุขรมย์
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2
สถานที่ติดต่อ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 เลขที่ 1/3 หมู่ 8 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
รหัสไปรษณีย์ 10540 โทรศัพท์ 02-3300141-4 ต่อ 18 โทรสาร 02-3300141-4 ต่อ 26
ปีที่ศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อวิเคราะห์สภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และ 2) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในด้านการบริหารจัดการด้าน
การจัดการเรียนรู้และด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างผู้บริหารสถานศึกษาและครู จำนวน 95 คน จากโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และโรงเรียนคุณภาพชุมชน ในสังกัดจำนวน 71 โรงเรียน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ 3 ขั้นตอน คือ
1) จัดทำSWOT การประชุมระดมความคิด (Brainstorming) 2) การสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship) และ 3) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์สภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 ได้มี 1) การบริหารจัดการทั้งด้านการขับเคลื่อนให้สอดรับกับสถานการณ์ ทั้ง 4 ด้าน คือพัฒนาบุคคล มีกระบวนการจัดการ ส่งเสริมวัสดุอุปกรณ์และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ 2) ในด้านการจัดการเรียนรู้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอน On-Site ได้ แต่จัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน On-Air,On-Line, On-Demand และ On-Hand เพื่อให้เหมาะกับสภาพและความพร้อมของนักเรียนแต่ละกลุ่มในแต่ละระดับชั้นโดยมีการสอนแบบ On-Hand เป็นหลัก เพื่อให้นักเรียนที่เรียนทุกรูปแบบได้ทบทวน ฝึกทักษะ สัดส่วนการสอนโดย On-Line และ On-Demand มีแนวโน้มเพิ่มตามระดับชั้นของนักเรียน ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่มาจากการขาดแคลนอุปกรณ์ สื่อเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตของนักเรียน ความ ไม่พร้อมของผู้ปกครองเนื่องจากความยากจนและไม่มีเวลากำกับดูแลนักเรียน ตลอดจนไม่สามารถให้ความรู้ในบางวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้แก่นักเรียนได้ และ 3) ด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนทุกประเภทได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในด้านการจัดการเรียนรู้ตามสภาพและบริบท จุดแข็ง และปัจจัยเกื้อหนุนที่สามารถดำเนินการได้ดี คือครูเตรียมการสอนจัดทำคลิป สื่อการสอน แบบฝึกใบงานและจัดการสอนทั้ง On-Line, On-Demand และOn-Hand เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนทุกกลุ่ม ในด้านความปลอดภัยทุกโรงเรียนได้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของ ศบค.จังหวัด มีการติดตามเยี่ยมบ้านออนไลน์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่นักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับการป้องกันความปลอดภัยของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) และในด้านการส่งต่อนักเรียนในระดับที่สูงขึ้น มีการวางแผน เตรียมการ แนะแนวให้ความรู้ตลอดจนการพยายามติดตามนักเรียนรายบุคคล เพื่อการเตรียมศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีการแนะแนวเสริมต่อทั้งการศึกษาต่อและด้านอาชีพ ปัญหาอุปสรรคในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนส่วนใหญ่เป็นด้านการจัดการเรียนรู้เนื่องจากไม่สามารถไปพบนักเรียนได้ และนักเรียนบางส่วนย้ายถิ่นตามผู้ปกครองไม่สามารถติดตามได้
2. แนวทางการพัฒนาโรงเรียนในด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้และการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ดังนี้ 1) ด้านการบริหารจัดการ ควรมีรูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ปรับโครงสร้างหลักสูตรการวัดและประเมินผลให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มีการส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาใ
ห้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและการสร้างสื่อเทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอน จัดสรรครูให้ตรงตามวิชาเอก ครบชั้นเรียน และจัดหางบประมาณ เครื่องมืออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน และจัดทำข้อมูลสารสนเทศ พัฒนาระบบการประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน 2) ด้านการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนต้องปรับโครงสร้างหลักสูตร จัดการเรียนรู้ที่เน้น Active Learning โดยใช้สื่อเทคโนโลยี พร้อมทั้งจัดทำคลังสื่อ นวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์ ครูผู้สอนต้องพัฒนาทักษะเทคนิควิธีการสอนหลากหลายรูปแบบ ใช้วิธีการวัดและประเมินผลให้มีความสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ สภาพจริงและที่เหมาะสมกับผู้เรียน และ 3) ด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ต้องกำหนดนโยบายการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นระบบ มีความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน มีการสำรวจ ติดตาม จัดกลุ่มนักเรียนตามความเสี่ยงและจัดเก็บข้อมูลรายบุคคลเพื่อให้สะดวกต่อการช่วยเหลือและส่งเสริม มีการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
3. ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า 1) ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นให้โรงเรียนสามารถปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน การทบทวนจัดทำแนวทางในการการจัดการเรียนรู้ การวัดประเมินผลเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่เป้าหมาย และอาชีพในอนาคตของนักเรียน ควรส่งเสริมสนับสนุน สื่อ อุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีของโรงเรียนให้พอเพียง ทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมช่องทางการเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลงานสื่อการสอนของครูเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ครู ควรมีการส่งเสริม สนับสนุนสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยี แท็ปเล็ต สัญญาณอินเตอร์เน็ต แก่นักเรียนที่ ขาดแคลนให้สามารถเรียนด้วยตนเองหรือทางไกลด้วยรูปแบบต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้น และ 2) ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ควรมีรูปแบบส่งเสริมการการบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ การปรับโครงสร้างหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมพัฒนาครูให้สามารถออกแบบและการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความจำเป็น บริบท และทันเหตุการณ์ มีการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยี สนับสนุนด้านสื่อ อุปกรณ์เทคโนโลยี ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองในด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาทางปัญญา การป้องกันและการแก้ไขปัญหาให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ มีวินัยและความรับผิดชอบมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะการดำรงชีวิตที่สามารถผจญและรอดพ้นจากวิกฤติได้