ชื่อเรื่อง (ภาษาไทย) : การพัฒนารูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ชื่อเรื่อง (ภาษาอังกฤษ) : THE DEVELOPMENT AN INTEGRATED GUIDANCE ACTIVITY MODEL TO PROMOTE HAPPY LEARNING AMONG
MATHAYOMSUKSA 5 STUDENTS
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวฐิติพรรณ ศิริเลิศ
ปีการศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยรูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R & D) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 2) ทดลองใช้และศึกษาผลการใช้รูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ดำเนินการวิจัยเป็น 4 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (R1) ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและพัฒนา (D1) ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบ (R2) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินผล (D2) กลุ่มตัวอย่างในขั้นตอนที่ 3 ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่กำลังศึกษาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จำนวน 59 คน โดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย เพื่อแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คู่มือการใช้รูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แบบประเมินการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และแบบประเมินความพึงพอใจของรูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการพัฒนารูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มีชื่อว่า รูปแบบ WALK-R ประกอบด้วยขั้นตอนการจัดกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น (Warmth) ขั้นที่ 2 กระตุ้นการคิด (Active thinking) ขั้นที่ 3 ใช้กระบวนการเรียนรู้ (Leaning process) ขั้นที่ 4 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge sharing) และขั้นที่ 5 สะท้อนคิด และประเมินผล (Reflection and evaluation) ดำเนินการจัดกิจกรรมแนะแนวตามขอบข่ายการแนะแนว 3 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านส่วนตัวและสังคม โดยการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ด้วยทฤษฎี หลักการ และแนวคิดของการจัดการเรียนรู้ อันประกอบด้วย การเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped classroom) การเรียนรู้แบบไฮบริด (Hybrid learning) และการเรียนรู้แบบเกม (Game based learning) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของผู้เรียน 3 ด้านคือ ด้านที่ 1 ความสนใจใฝ่เรียนรู้ ด้านที่ 2 ความพึงพอใจในการเรียน และด้านที่ 3 การเห็นคุณค่าในตนเอง
2. ผลการทดลองและศึกษาผลการใช้รูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า
2.1 กลุ่มทดลองที่ได้รับการพัฒนาด้วยรูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมแนะแนวแบบปกติ มีผลการเรียนรู้อย่างมีความสุขไม่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม
2.2 กลุ่มทดลองที่ได้รับการพัฒนาด้วยรูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีผลการเรียนรู้อย่างมีความสุขหลังทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมแนะแนวแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.3 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุข อยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ: การพัฒนารูปแบบ กิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการ การเรียนรู้อย่างมีความสุข