หัวข้อวิจัย การสร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน รายวิชาวิทยาศาสตร์ 6 ว23102 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
ชื่อ-สกุล ทศพล สุวรรณราช
กลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ สุภาวดี พึ่งรุ่ง
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน รายวิชาวิทยาศาสตร์ 6 ว23102 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/6 จำนวน 48 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยมีห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling Unit) ด้วยวิธีการจับฉลากมา 1 ห้องเรียน จากจำนวน 12 ห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จำนวน 5 ชุด ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจที่ผ่านการหาคุณภาพและความเชื่อมั่นแล้ว สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (X-Bar) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่า t (t-test for Dependent Samples) และการทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรม (E1/E2) ตามเกณฑ์ 80/80
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 โดยมีประสิทธิภาพโดยรวมเท่ากับ 85.83/84.17
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก (X-Bar = 4.33, S.D. = 0.13)