บทคัดย่อ
รายงานผลการนิเทศครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อศึกษาผลพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษาด้วยกระบวนการ PIDRE ผสานเทคนิค Coachingโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ในด้าน 1.ความก้าวหน้าของครูผู้สอน วิทยาการคำนวณ ระดับชั้นประถมศึกษา หลังการเข้ารับการพัฒนาตามโครงการ 2. พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษา 3.ความพึงพอใจการนิเทศการจัดการเรียนรู้ วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษา ด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ผสานเทคนิค Coaching กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาได้แก่ ครูวิทยาการคำนวณ จำนวน 18 คน ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5
ปีการศึกษา 2564 ดำเนินการนิเทศโดยใช้กระบวนการนิเทศของ PIDRE สงัด อุทรานันท์ (อ้างใน วัชรา เล่าเรียนดี, 2555, น. 20-21) และผสานเทคนิคแบบ Coaching ตามหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแนวคิดเชิงคำนวณโดยใช้เกมเป็นฐาน(2563) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยเครื่องมือ 2 ประเภทที่ผู้รายงานได้จัดทำขึ้นด้วยตนเองทุกรายการ คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการนิเทศ ได้แก่ คู่มือการนิเทศการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษาด้วยกระบวนการ PIDRE ผสานเทคนิค Coaching โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 และ เอกสารประกอบการนิเทศ จำนวน 1 เล่ม ประกอบไปด้วยเนื้อ 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณ ตอนที่ 2 การนำวิทยาการคำนวณมาสู่การออกแบบการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง ปี 2551 (ฉบับปรับปรุง) ตอนที่ 3 ตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ระดับชั้นประถมศึกษา 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการศึกษา ได้แก่ แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจก่อน - หลังการอบรม เรื่องการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษา และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการนิเทศเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ผสานเทคนิค Coaching สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ค่า t-test
สรุปผลการศึกษา
ผลการนิเทศเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษาด้วยกระบวนการ PIDRE ผสานเทคนิค Coaching โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 มีดังนี้
1. ความก้าวหน้าของครูผู้สอนวิทยาการคำนวณหลังการเข้ารับการอบรมตามโครงการ พบว่าผลการทดสอบหลังการอบรม มีค่าเฉลี่ย (μ = 20.78) สูงกว่าผลการทดสอบก่อนการอบรมซึ่งมีค่าเฉลี่ย (μ = 13.56) โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7.22 เมื่อทดสอบความแตกต่างของผลการอบรมก่อนและหลังการอบรม พบว่า ผลการทดสอบหลังการอบรมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ในระดับชั้นประถมศึกษา พบว่า ในภาพรวมมีผลประเมินการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (μ = 4.27) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการเตรียมก่อนการสอน มีผลการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย
(μ = 4.41) รองลงมาด้านการจัดบรรยากาศและบริหารชั้นเรียน มีผลการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (μ = 4.40) รองลงมาด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยี มีผลการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
มีค่าเฉลี่ย (μ = 4.28) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือด้านการสรุปและประเมินผล มีผลการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย (μ = 4.05)
3. ความพึงพอใจต่อนิเทศเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน ระดับประถมศึกษา ด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ผสานเทคนิค Coaching สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 พบว่า ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณมีความพึงพอใจ ต่อการนิเทศอยู่ในระดับมาก (μ = 4.46) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านการดำเนินงานตามกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ผสานเทคนิค Coaching ครูมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
(μ = 4.58)รองลงมา คือด้านผลการดำเนินงานตามกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ผสานเทคนิค Coaching ครูมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (μ = 4.34)