ภาษาไทยเป็นเครื่องมือใช้สื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและตรงตามจุดมุ่งหมาย
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดความต้องการและความรู้สึก การใช้ภาษาเป็นทักษะที่ผู้ใช้ต้องฝึกฝน
ให้เกิดความชำนาญไม่ว่าจะเป็นการอ่านการเขียนการพูดการฟังและการดูสื่อต่าง ๆ รวมทั้งต้องใช้
ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษาเพื่อสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและใช้อย่างคล่องแคล่วหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ได้เห็นความสำคัญของการเรียนภาษาไทยจึงกำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยออกเป็น 5 สาระ ได้แก่ สาระที่ 1 การอ่าน
สาระที่ 2 การเขียน สาระที่ 3 การฟัง สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย สาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งทุกสาระล้วนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร
ให้ผู้เขียนเลือกใช้คำเรียบเรียงความคิด ความรู้ให้ชัดเจน ใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักภาษา ใช้ถ้อยคำ
ให้ตรงความหมาย ถูกต้องตามฐานะและสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการเรียนสาระวรรณคดีและวรรณกรรม ผู้เรียนต้องเห็นความงดงามของถ้อยคำและคุณค่าในบทร้อยกรอง เข้าใจเรื่องราว
ในวรรณคดี ดังนั้น การอ่านบทร้อยกรองที่ไพเราะหรือการท่องบทอาขยาน ก็จะเป็นต้นทุนและพื้นฐานของการแต่งบทร้อยกรองในระดับที่สูงขึ้นและทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สังคมชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยอีกด้วย (กระทรวงศึกษาธิการ. 2552 : 9)
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 มาตรา 22 ระบุไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มาตรา 23 ระบุว่าการจัดการศึกษา
ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ และคุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องของความรู้ ทักษะด้านภาษาไทยและเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารทำความเข้าใจในเนื้อหาความรู้ที่ศึกษาค้นคว้าได้อย่างถูกต้อง จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเห็นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข ด้วยความสำคัญดังกล่าว หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดให้ภาษาไทยเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง ภาษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์ในโลกล้วนใช้ภาษา
ในการติดต่อสื่อสารกัน กระทรวงศึกษาธิการ (2551:37) ได้กำหนดการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะทั้ง 5 ด้าน คือ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และเข้าใจหลักการใช้ภาษาไทยอย่างสัมพันธ์กันเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอ่านออกเสียงและอ่านในใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการอ่านได้รวดเร็วตามเวลาที่กำหนด อธิบายซักถามรายละเอียดความคิดเห็น ตลอดจนจับใจความสำคัญและนัยของข้อความและเรื่องที่อ่าน เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการอ่านมีทักษะในการอ่านในใจและอ่านออกเสียงได้ถูกต้องคล่องแคล่วรวดเร็ว สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกจากเรื่องราวที่อ่านได้ สามารถจับใจความสำคัญคิด
เชิงวิจารณ์และวิเคราะห์ใจความสำคัญปฏิบัติตนจนเป็นนิสัยที่ดีในการอ่านหนังสือและรักการอ่าน เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2551:1) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ
การอ่านและเขียนคำควบกล้ำแท้และคำควบกล้ำไม่แท้ที่มีต่อการเรียนการสอนจึงกำหนดเรื่อง การอ่านและเขียนคำควบกล้ำแท้และคำควบกล้ำไม่แท้ไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา มาตรฐาน ท 4.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทยการเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติและกำหนดตัวชี้วัดเรื่องการอ่านและเขียนคำควบกล้ำแท้และคำควบกล้ำไม่แท้ จากความคิดเห็นของนักวิชาการที่ได้เล็งเห็นถึงการอ่านจับใจความว่ามีความสำคัญต่อการเรียนของนักเรียนเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับ กิติมา สุรสนธิ (2556:91) ได้กล่าวไว้ว่า ในด้านการสอนอ่านในโรงเรียนต่าง ๆ เท่าที่เป็นอยู่ปรากฏว่าผู้สอนจะประสบปัญหาอย่างมาก คือไม่ทราบว่าจะใช้วิธีสอนแบบใด จึงจะช่วยให้เด็กอ่านหนังสือได้อย่างคล่องแคล่วมีหลักการในการออกเสียงและสะกดคำควบกล้ำต่าง ๆ ที่ถูกต้อง
จากประสบการณ์ของผู้รายงานที่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้กลุ่มสาระวิชาภาษาไทยให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 2 โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส พบว่า ร้อยละ 80
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ
การอ่านออกเสียง อ่านสะกดคำ และเขียนคำควบกล้ำ ยังไม่ถูกต้องตามหลักราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2554 ส่งผลให้จับประเด็นจากการอ่านเกิดความผิดเพี้ยน และไม่เข้าใจในสิ่งที่อ่าน ไม่สามารถเรียบเรียงเป็นภาษาของตนเองได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเรียนวิชาภาษาไทย เนื่องจาก
วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความจำเป็นต้องใช้ทักษะกระบวนการทั้ง 4 ด้านคือ การฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งทักษะพื้นฐานสำคัญ คือ การอ่าน เมื่อนักเรียนอ่านสะกดคำและเขียนคำควบกล้ำในบทเรียน
ที่อ่านไม่ได้ จะทำให้ไม่เข้าใจในบทเรียนซึ่งนำไปสู่การมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ อีกทั้งทักษะการอ่านนี้ยังจำเป็นในทุกรายวิชาอีกด้วย จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้สอนแสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนคำควบกล้ำของนักเรียน และค้นพบวิธีการที่สามารถใช้ในการพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนคำควบกล้ำได้ก็ คือ การจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำควบกล้ำ
ซึ่งภายในเล่มเป็นเนื้อหาความรู้ และคำควบกล้ำที่ใกล้ตัวและผู้เรียนพบเจอในชีวิตประจำวัน ใช้คำคล้องจองเพื่อดึงความสนใจในการเรียนของผู้เรียน ซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดของเรื่องที่อ่านได้อย่างรวดเร็ว จดจำได้ดี และทบทวนเรื่องราวที่อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้รายงานจึงได้ทำการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำควบกล้ำ
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส
ผู้รายงานเลือกสร้างแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำควบกล้ำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพราะจะสามารถช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการอ่านและเขียนคำควบกล้ำ และการใช้ภาษาของนักเรียนได้ นักเรียนสามารถจดจำเนื้อหาได้อย่างคงทน ครูผู้สอนสามารถเห็นความก้าวหน้า และข้อบกพร่องของนักเรียนเป็นรายบุคคลได้ ช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
จากแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นของผู้รายงาน ที่ต้องการพัฒนานักเรียนให้ไปถึงเป้าหมาย
ที่วางไว้ ทำให้เกิดนวัตกรรม แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำควบกล้ำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชุดนี้ ขึ้นมาใช้สอนกับนักเรียนโรงเรียนบ้านโต๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอน
ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป