ชื่อเรื่อง รายงานผลการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของนักเรียน
โรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล
ผู้ศึกษา ชัญญาภัค บุญฤทธิ์
หน่วยงาน โรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ปีการศึกษาที่ดำเนินการ 2564
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของนักเรียนโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล ใน 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต (2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของนักเรียนโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล จำนวน 344 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของการ ศึกษา คือ แบบสอบถามออกเป็น 3 ฉบับ ดังนี้ (1) แบบสอบถามผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำหรับผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
การศึกษาผลการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของนักเรียนโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล พบว่า ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำ ของโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล ในภาพรวมทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน โดยเรียงจากค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านกระบวนการ รองลงมา คือด้านผลผลิต และด้านสภาวะแวดล้อมตามลำดับ ส่วนรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือด้านปัจจัยนำเข้า
การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า พบว่า ค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจที่มีต่อ
ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริม อาชีพเพื่อการมีงานทำของโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อโดยเรียงจากค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน และผู้ปกครอง , ครูใช้สื่อ อุปกรณ์ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้านอาชีพ, นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาด้านอาชีพ ได้รับการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำ และนักเรียน มีความใฝ่เรียนรู้ และพัฒนาทักษะงานอาชีพให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ มีมาตรฐานการทำงาน ตามลำดับ ส่วนรายข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในงานอาชีพ สามารถนำไปปฏิบัติงานอาชีพได้
การศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจที่มีต่อผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำของโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูลสำหรับผู้ปกครองนักเรียน ภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อโดยเรียงจากค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การจัดกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำสามารถพัฒนานักเรียนได้ , การสอนงานอาชีพตามโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำช่วยให้นักเรียนได้รับโอกาสมีงานทำ มีรายได้ระหว่างเรียน,การสอนงานอาชีพตามโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำช่วยให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข และการสอนงานอาชีพตามโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในงานอาชีพ ตามลำดับ ส่วนรายข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือการสอนงานอาชีพตามโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีงานทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับสถานประกอบการ