ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านสองพี่น้อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4
ผู้รายงาน นายศิวกรณ์ คำปา
ปีที่จัดทำ 2564
บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านสองพี่น้อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการและด้านผลผลิตของโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย จำนวน 190 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 12 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 60 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 108 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจงและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย เครื่องมือที่ในการประเมิน คือ แบบประเมิน จำนวน 7 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติ คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการ สรุปได้ว่า ผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านสองพี่น้อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาผลการประเมินแต่ละด้าน พบว่า
1. ด้านบริบทของโครงการ โดยรวมมีระดับความสอดคล้องอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยประเด็นการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โครงการสอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของโรงเรียน และวัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจนสามารถปฏิบัติได้และก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะและพฤติกรรมการอ่านของผู้เรียน มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยรวมมีระดับความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยประเด็นการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านบุคลากร รองลงมา คือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านสื่อและแหล่งเรียนรู้ และด้านงบประมาณ ทุกด้านมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ
3. ด้านกระบวนการของโครงการ โดยรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยกิจกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือด้านการวางแผน (Plan) ด้านการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา (Act) ด้านดำเนินงาน (Do) ได้แก่ กิจกรรมการประกวดผลงานนักเรียน กิจกรรมจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน กิจกรรมบันทึกการอ่านระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 กิจกรรมเขียนเรื่องจากภาพ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และกิจกรรมอ่านภาษาไทยวันละคำ และด้านการติดตามและประเมินผล ทุกด้านมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ
4. ด้านผลผลิตของโครงการ โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ดังนี้
4.1 ผลการประเมินประสิทธิผลของการดำเนินงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านสองพี่น้อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 โดยรวมมีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ผลการประเมินทักษะการอ่านของนักเรียนปีการศึกษา 2564 พบว่า ด้านทักษะการอ่าน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีทักษะการอ่านระดับดีขึ้นไป ครั้งที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 51.37 ครั้งที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 66.64 แสดงให้เห็นว่า นักเรียนมีพัฒนาการการอ่านที่สูงขึ้น และด้านทักษะการเขียน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีทักษะการเขียนระดับดีขึ้นไป ครั้งที่ 1 คิดเป็น ร้อยละ 41.57 ครั้งที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 63.82 แสดงให้เห็นว่า นักเรียนมีพัฒนาการการเขียนที่สูงขึ้น
4.3 พฤติกรรมการอ่านและการแสวงหาความรู้ของนักเรียน ตั้งแต่มิถุนายน 2564-มีนาคม 2565 พบว่า จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 843 คน คิดเป็นร้อยละ 86.73 สถิติการเข้าใช้ห้องสมุด จำนวน 620 คน คิดเป็นร้อยละ 63.78 และสถิติการยืม-คืน หนังสือ จำนวนทั้งหมด 386 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 39.71
4.4 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนบ้านสองพี่น้อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 โดยรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาทักษะการอ่าน และนักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุด ได้แก่ นักเรียนมีความกล้าพูดและกล้าแสดงออก และนักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. โรงเรียนควรเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการทั้งในด้านการสนับสนุนงบประมาณอย่างเหมาะสม การจัดให้มีสื่อการเรียนรู้และวัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอสำหรับดำเนินงานโครงการ
2. การดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ ควรนิเทศ ติดตาม และประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง และนำผลการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลมาใช้ในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่องและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพต่อไป
3. การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้มีประสิทธิภาพ โรงเรียนควรจัดให้มีสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนที่เอื้อต่อการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เพื่อให้นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ เป็นการพัฒนาทักษะและพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนให้สูงขึ้น
ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการครั้งต่อไป
1. ควรมีการศึกษากระบวนการพัฒนากิจกรรมการอ่านเชิงรุกและการมีส่วนร่วมของนักเรียนเพื่อการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียน
2. ควรศึกษารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านของนักเรียน