การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนวัดอุทการาม 2) ประเมินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนวัดอุทการาม โดยใช้รูปแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) และ 3) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางการดำเนินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนวัดอุทการาม ตามความคิดเห็นของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา จำนวน 147 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครู จำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียน จำนวน 66 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 66 คน ในการสนทนากลุ่ม ผู้เข้าร่วมสนทนา จำนวน 10 คน ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 ศึกษานิเทศก์ ประธานกลุ่มโรงเรียนภาชีสราญรมย์ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนผู้ปกครองนักเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการการศึกษา ผู้แทนศาสนา ผู้แทนครู และผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอุทการาม เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสนทนากลุ่ม ข้อมูลจากแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ t-test ข้อมูลจากความคิดเห็นด้านผลผลิต (ผลกระทบ) และการสนทนากลุ่ม นำมาสรุปเป็นความเรียง
ผลการศึกษาพบว่า
1. แนวทางการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียน วัดอุทการาม ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการวางแผน การตัดสินใจ การปฏิบัติ การมีส่วนร่วม
ในผลประโยชน์และการประเมินผล
2. การประเมินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนวัดอุทการาม พบว่า
2.1 ด้านบริบท ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และ
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
2.3 ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และ
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
2.4 ด้านผลผลิต
2.4.1 ผลการดำเนินงาน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผลการดำเนินงานตามความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครอง ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
2.4.2 ผลกระทบ พฤติกรรมด้านคุณธรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดอุทการามหลังดำเนินโครงการสูงกว่าก่อนดำเนินโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่านักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้ชุมชนยอมรับโรงเรียน ผู้ปกครองพึงพอใจโรงเรียน ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือโรงเรียน สนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมของโรงเรียนทุกครั้งและเกิดเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม
3. ปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนวัดอุทการาม ได้แก่ ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินโครงการยังไม่เพียงพอ การบริหารจัดการเรื่องเวลา ไม่เหมาะสม ครูและนักเรียนบางกลุ่มยังขาดองค์ความรู้และเทคนิคในการทำโครงงานคุณธรรม นักเรียนไม่เข้าใจกระบวนการทำโครงงาน ผู้ปกครองบางส่วนไม่เห็นความสำคัญของคุณธรรม นักเรียนบางส่วนยังไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรม การแก้ปัญหายังไม่ตรงประเด็นใน บางโครงงาน เกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างสมาชิกในกลุ่ม การทำงานยังไม่เป็นระบบ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังไม่ถึงขั้นกลายเป็นอุปนิสัยหรือวัฒนธรรมของโรงเรียน ส่วนแนวทาง ในการดำเนินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรมีส่วนร่วมในการวางแผน การตัดสินใจ การปฏิบัติงาน ผลประโยชน์ และการประเมินผล นักเรียนควรเป็นผู้วางแผนและแก้ไขปัญหาเอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านคุณธรรมจริยธรรมและมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ ควรสร้างบรรยากาศความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ ผู้บริหารสถานศึกษาควรนิเทศ กำกับ ติดตาม แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือและสร้างขวัญและกำลังใจอย่างต่อเนื่อง เปิดใจยอมรับข้อบกพร่องและพร้อมแก้ไข ควรมีเครือข่ายโรงเรียนที่มุ่งส่งเสริมคุณธรรมแก่นักเรียน