ชื่อวิจัย รูปแบบการบริหารงานเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียนโรงเรียนบ้านตันหยง
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1
ผู้ศึกษา ดร.วันซาวีลา เบ็ญลาเตะ
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานสู่การพัฒนาพหุปัญญาของ
นักเรียนในโรงเรียนบ้านตันหยง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 ดำเนินการวิจัยด้วยวิธีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) การวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย มี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาวิเคราะห์เอกสาร หลักการ แนวคิด ทฤษฎี แนวคิดการพัฒนารูปแบบ ทฤษฎีระบบโรงเรียน ทฤษฎีพหุปัญญาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี จำนวน 2 คน ศึกษานิเทศก์ในจังหวัดปัตตานี จำนวน 2 คน ครูผู้สอนในโรงเรียนบ้านตันหยง จำนวน 5 คน รวมทั้งสิ้น 9 คน ผู้วิจัยเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposeful selection) ระยะที่ 2 ร่างรูปแบบการบริหารงานเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โดยการร่างรูปแบบและปรับปรุงร่างรูปแบบ จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ระยะที่ 3 พัฒนารูปแบบ โดยมีการทดลองใช้ในโรงเรียนบ้านตันหยงแล้วดูผลเพื่อปรับปรุง โดยใช้ระยะเวลา 9 เดือน พัฒนารูปแบบโดยการสัมภาษณ์และปรับปรุงรูปแบบในโรงเรียนบ้านตันหยง และระยะที่ 4 สรุปและยืนยันรูปแบบ โดยนำรูปแบบมาตรวจสอบความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎีจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ด้วยวิธีสนทนากลุ่ม (Focus Group) และนำผลที่ได้จากการตรวจสอบไปแก้ไขปรับปรุงรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ ผลการตรวจสอบรูปแบบ พบว่า ผลการตรวจสอบรูปแบบการบริหารงานเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน (TP: SCM) Model มีค่าดัชนีความสอดคล้องรายข้อของความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี มีค่าเท่ากับ 1 ค่าดัชนีความสอดคล้องรายข้อของความเป็นไปได้ของรูปแบบ มีค่าเท่ากับ 0.8 และค่าดัชนีความสอดคล้องของรูปแบบ รายข้อมีค่าระหว่าง 0.8-1.0
ผลการวิจัยครั้งนี้ พบว่า รูปแบบการบริหารงานเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน
(TP: SCM) Model ซึ่งประกอบด้วย องค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบด้านหลักการและวัตถุประสงค์ (Principles and Objectives) หลักการ คือ การบริหารงานเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียนในโรงเรียนบ้านตันหยง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 ให้ประสบผลสำเร็จโดยอิงทฤษฎีระบบและระบบวัฒนธรรมการบริหารจัดการในโรงเรียน ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ คือ เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานสู่การพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียนในโรงเรียนบ้านตันหยงโดยกระบวนการแปรสภาพของระบบโครงสร้างการบริหาร ระบบวัฒนธรรมการบริหารจัดการและระบบการกำกับติดตามและประเมินผล จากผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนนำสู่การพัฒนาคุณภาพงานให้มีประสิทธิภาพ องค์ประกอบด้านปัจจัยนำเข้า (Inputs) 1) สิ่งแวดล้อมของสถานศึกษา 2) ความต้องการของชุมชน 3) นโยบายของรัฐบาล สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 4) ภารกิจและนโยบายของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 5) วัสดุอุปกรณ์และวิธีการ 6) ผู้เรียน 7) ผู้บริหารและคณะครู 8) งบประมาณ องค์ประกอบด้านกระบวนการแปรสภาพ (Transformation Process) 1. ระบบโครงสร้างการบริหารงาน การกำหนดโครงสร้างกลุ่มงานและมาตรฐานการดำเนินงานที่เป็น โครงสร้างการบริหารในแต่ละกลุ่มงาน 2. ระบบวัฒนธรรมในการบริหารจัดการ 2.1) กลยุทธ์ในการบริหารเพื่อนำสู่การพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียนในโรงเรียน 2.2) การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย คือ นักเรียน ผู้ปกครอง ครูผู้บริหาร ชุมชนและองค์กรภายนอก 2.3) การระดมทรัพยากร การระดมทรัพยากรจากภาคีเครือข่าย 2.4 การบริหารจัดการหลักสูตร (พหุปัญญาในสถานศึกษา) 2.4.1) การเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรและข้อมูลสารสนเทศ 2.4.1.1) ประชุมวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการความจำเป็น วิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา/เลือกทางเลือกที่เหมาะสม 2.4.1.2) วางแผนจัดเตรียม จัดกิจกรรม Coaching and Mentoring เรื่อง พหุปัญญาในสถานศึกษา 9 ด้าน 2.4.2) การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา 2.4.2.1) สร้างหลักสูตรการพัฒนาพหุปัญญาในสถานศึกษาโดย Coaching and Mentoring 2.4.2.2) สร้างคู่มือการใช้หลักสูตรการพัฒนาพหุปัญญา 2.4.3) การนำหลักสูตรไปใช้ 2.4.4) การกำกับติดตามและประเมินผล 2.5) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านวิชาการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์และทักษะชีวิต 2.5.1) กิจกรรมในหลักสูตร 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 2.5.2) กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ 2.5.3) กิจกรรมเสริมหลักสูตร/ทักษะสมรรถนะ 2.5.4) กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 2.5.5) กิจกรรมชุมนุมหรือโฮมรูม 2.6) การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน 3. ระบบการกำกับติดตามและประเมินผล องค์ประกอบย่อยในโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กัน ประกอบด้วย การกำกับ ทบทวน พัฒนา ประเมินผล งาน กิจกรรม โครงการในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล องค์ประกอบด้านผลผลิต (Outputs) 1. ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน 2. ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนและครู
3. คุณภาพโดยรวม องค์ประกอบด้านการนำรูปแบบไปใช้ (Applying the model) 1. ระบบโครงสร้างการบริหาร คือ องค์ประกอบย่อยของโครงสร้างงานในโรงเรียน มีความสัมพันธ์กัน ประกอบด้วย การบริหารงานวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไปและการบริหารงานงบประมาน 2. ระบบวัฒนธรรมในการบริหารจัดการ คือ องค์ประกอบย่อยของการบริหารจัดการในโรงเรียนมีความสัมพันธ์กัน ประกอบด้วย กลยุทธ์ การมีส่วนร่วม การระดมทรัพยากร การบริหารจัดการหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน และการสร้างบรรยากาศทีดีในโรงเรียน 3. ระบบการกำกับติดตามและประเมินผล คือ องค์ประกอบย่อยในโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กัน ประกอบด้วยการกำกับ ทบทวน พัฒนา ประเมินผล งานกิจกรรมโครงการในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
คำสำคัญ : รูปแบบการบริหารงาน พัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน ระบบวัฒนธรรมในการบริหาร
จัดการ