ปัญหาและขอบเขตของปัญหา
ในปัจจุบันสภาพปัญหาในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)๔ กรุงเทพมหานคร ยังประสบปัญหาต่างๆ หลายๆ ด้าน จึงส่งผลให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพปัญหาหลายๆ ด้านที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาเกี่ยวกับผู้สอน ปัญหาเกี่ยวกับนักเรียน ปัญหาในการจัดดำเนินการด้านการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่ยังไม่เป็นการสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างแท้จริง ดังนั้นการที่ผู้เรียนจะเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้เรียนจะต้องมีความสมดุลระหว่างสาระทางด้านความรู้ ทักษะกระบวนการควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม กล่าวคือ มีความรู้ความเข้าใจในคณิตศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับจำนวนและการดำเนินการ การวัด เรขาคณิต พีชคณิต การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น พร้อมทั้งสามารถนำความรู้นั้นไปประยุกต์ได้ การเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์นั้นๆ ได้ ผู้เรียนสามารถนำความรู้หรือแนวคิดที่ได้จากการนำเสนอนั้นไปประยุกต์หรือเป็นแบบอย่างงในการปฏิบัติได้ (สิริพร ทิพย์คง, 2545:96)
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผลเป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ช่วยให้คาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหา และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่นๆ คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กรมวิชาการ, 2545:1)
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD (Student Teams Achievement Division) เป็นรูปแบบการสอนที่พัฒนาโดย Slavin มีการจัดกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละ 4 5 คน ระดับความสามารถแตกต่างกัน ประกอบด้วยนักเรียนเก่ง 1 คน ปานกลาง 2 3 คน และอ่อน 1 คน ครูกำหนดบทเรียนและการทำงานของกลุ่มไว้แล้ว โดยครุทำการสอนบทเรียนให้นักเรียนทั้งชั้นเรียน แล้วให้ทำงานกลุ่มตามกำหนด นักเรียนในกลุ่มช่วยเหลือกัน เด็กเก่งช่วยตรวจงานและอธิบายเพื่อนให้เข้าใจถูกต้องก่อนนำส่งครู หลังจากนั้นให้นักเรียนทุกคนต่างทำข้อสอบโดยไม่มีการช่วยเหลือกัน นำคะแนนที่ได้จากการสอบของสมาชิกในกลุ่มมาหาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนฐานและมีการให้รางวัลกลุ่มที่ทำคะแนนได้ดีกว่าเดิม มีการให้รางวัลกับกลุ่มที่ได้คะแนนสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ การเรียนด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนใส่ใจผู้อื่นมากขึ้น มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมๆ กับการพัฒนาความดีงาม ความรู้และความสามารถไปด้วยกันซึ่งจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น
(ทิศนา แขมมณี, 2545:198)
จากที่กล่าวมาข้างต้นในการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ผู้วิจัยเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือ STAD เป็นกระบวนการกลุ่มที่นักเรียนจะช่วยกันทำงานร่วมกัน ช่วยให้นักเรียนกล้าแสดงออก และนักเรียนสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อความสำเร็จของกลุ่ม มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถค้นพบความรู้ด้วยตนเองและผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนคณิตศาสตร์ต่อไป ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้ชุดการเรียนการสอน เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างรูปเรขาคณิตสองมิติและสามมิติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยวิธีการสอนแบบร่วมมือเทคนิค STAD
รูปแบบ เทคนิค วิธีการแก้ปัญหา หรือพัฒนา
ความมุ่งหมายของการวิจัย
เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้ชุดการเรียนการสอน เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยวิธีการสอนแบบร่วมมือเทคนิค STAD
ความสำคัญของการวิจัย
ผลการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือ STAD เป็นกระบวนการกลุ่มที่นักเรียนจะช่วยกันทำงานร่วมกัน ช่วยให้นักเรียนกล้าแสดงออก และนักเรียนสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อความสำเร็จของกลุ่ม มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถค้นพบความรู้ด้วยตนเองและผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนคณิตศาสตร์ต่อไป
ขอบเขตของการวิจัย
๑. ประชากรที่ใช้ในการวิจัย
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔ แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ 1 รหัสวิชา ค21105 ในเรื่องเลขยกกำลัง จำนวน 122 คน
๒. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔ แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 122 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple RandomSampling)
เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย
การกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยวิเคราะห์สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างรูปเรขาคณิตสองมิติและสามมิติ
ระยะเวลาในการศึกษาวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา ๒๕๖3
ตัวแปรที่ศึกษา
๑. ตัวแปรอิสระ คือ การเรียนโดยใช้ชุดการเรียนการสอน เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้วิธีการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD
๒. ตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และความพึงพอใจในการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังได้รับการจัดการเรียนรู้
๓. ตัวแปรควบคุม คือ เนื้อหา, จำนวนคาบเรียน
ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนาในอนาคต
ข้อเสนอแนะทั่วไป
ข้าพเจ้ามีแนวคิดในการเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนาอนาคต เพื่อเกิดประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนดังนี้
1) ควรทำแบบฝึกหัดให้นักเรียนในทุกเรื่อง ๆ เพื่อพัฒนาฝึกฝนนักเรียนให้เกิดทักษะและความชำนาญมากยิ่งขึ้น
2) ศึกษาเทคนิคการสอนคณิตศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจเนื้อหาทางคณิตศาสตร์ให้ถ่องแท้และไม่ซับซ้อนและเพื่อสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพได้เต็มกำลังความสามารถ
3) มีการจัดห้องสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์ ที่ประกอบด้วย มุมความรู้ในรูปแบบของหนังสือ วารสารที่น่าสนใจ ตกแต่งด้วยรูปต่างๆ ที่เกี่ยวกับทางคณิตศาสตร์ มีมุมฝึกทักษะการสังเกต มุมฝึกฝนการท่องจำสูตรคูณ สูตร นิยาม กฎเกณฑ์ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ และมีการจัดกิจกรรมแข่งขันทักษะทางคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์
4) ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนเป็นระยะ
ข้อเสนอแนะในการทำการวิจัยครั้งต่อไป
1. ในการสร้างชุดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ควรออกแบบรูปแบบชุดการเรียนการสอนให้มีรูปแบบสีสัน ออกแบบการ์ตูนเพิ่มเข้าไปให้น่าสนใจ
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยชุดการเรียนการสอน เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ดังนั้น ควรสร้างชุดการเรียนการสอนโดยการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD ในเนื้อหาอื่นและระดับชั้นอื่นๆ ด้วย
3. การตรวจใบงาน ควรตรวจอย่างสม่ำเสมอ และคืนใบงานให้กับนักเรียนอย่างรวดเร็ว เพื่อที่นักเรียนจะได้ทราบถึงความก้าวหน้า และจะได้แก้ไขข้อบกพร่องได้ทันที
4. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนการสอนควรเพิ่มสื่อที่หลากหลาย เช่น เกม สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง สื่อคอมพิวเตอร์ เป็นต้น