ภาษาอังกฤษมีบทบาทในชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมากขึ้น การเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นประโยชน์ต่อคนไทย รัฐบาลจึงได้กำหนดให้นักเรียนได้เรียนภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้นกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเป็นหนึ่งใน 8 กลุ่มสาระ
การเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้
โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศ สื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ แสวงหาความรู้ ประกอบอาชีพ และศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจ
ในเรื่องราวและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลกและสามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์ โดยได้กำหนดหัวข้อเกี่ยวกับด้านภาษาเพื่อการสื่อสารไว้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาต่างประเทศในการฟัง พูด อ่าน เขียน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแสดงความรู้สึกและความคิดเห็น ตีความ นำเสนอข้อมูลความคิดรวบยอดและความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างเหมาะสม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : 190-191)
การอ่านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะวัยเยาว์ ซึ่งกำลังมี
การพัฒนาในด้านต่าง ๆ มีความสนใจในขอบเขตกว้าง ต้องการเรียนรู้และแสวงหาประสบการณ์
ใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานชีวิตในอนาคต ดังนั้นสำหรับเด็ก ๆ แล้ว การอ่านจึงเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และการอ่านยังเป็นทักษะที่เชื่อมโยงและบูรณาการกับทักษะอื่น ๆ ได้ง่าย (สุพรรณี วราทร, 2550 : 43) สำหรับการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศในประเทศไทยนั้น เมื่อเปรียบเทียบความสำคัญ
ของทักษะทางภาษาทั้ง 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน จะพบว่า การอ่านเป็นทักษะที่สำคัญกว่าทักษะอื่น ๆ เพราะทักษะการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญของการแสวงหาความรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา การเจรจาต่อรอง และเพื่อการแข่งขันทางการประกอบอาชีพ มีนักการศึกษาจำนวนมากที่พยายามค้นคว้าหาวิธีการเพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะการอ่าน แนวทางหนึ่ง คือ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้และนวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งพบว่า แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน ถือเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพราะเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามหลักสูตร
ที่กำหนด และแบบฝึกทักษะการอ่านที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการฝึกได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เรียนจะใช้แบบฝึกหลังเรียนจบเนื้อหาในช่วงหนึ่ง ๆ เพื่อฝึกฝนให้เกิดความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งเกิดความชำนาญอย่างกว้างขวางมากขั้น ซึ่งสอดคล้องกับ Moor (2005 : 225 อ้างถึงใน อุบลรัตน์
อ่วมด้วง, 2555 : 6) ที่กล่าวว่า ครูต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านให้เหมาะสมกับระดับความสามารถและตรงกับความสนใจและความต้องการของผู้เรียน นอกจากนี้ Tomlinson (1998 : 8 อ้างถึงใน อุบลรัตน์ อ่วมด้วง, 2555 : 7) กล่าวเสริมว่า แบบฝึกที่ให้นักเรียนทำต้องมีความหลากหลายรูปแบบ ให้นักเรียนได้ใช้ความคิด เรียงลำดับเหตุการณ์ และมีภาพประกอบ
เพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน ดังนั้นครูผู้สอนภาษาอังกฤษจึงต้องมีการพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถนำเอาความรู้ ประสบการณ์และทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับการสอน ฝึกฝนและถ่ายทอดไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้ด้วยตนเอง นักเรียนที่มีทักษะการอ่านที่ดีย่อมสัมฤทธิ์ผล
ในการศึกษาสูง เมื่อนักเรียนได้พัฒนาทักษะการอ่านจนใช้การได้แล้ว ทักษะนี้จะยังคงอยู่กับตัวนักเรียนผู้นั้นไปตลอด และทำให้มีความสามารถที่จะเพิ่มพูนความรู้ด้วยตนเองได้ ดังนั้นทักษะการอ่านถือว่าเป็นทักษะที่เป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
ผู้รายงานสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ รายวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากการสังเกตพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ รายวิชาภาษาอังกฤษ ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดไว้ร้อยละ 70 ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษ รหัสวิชา อ12101
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านมือและห์
ข้อมูลเปรียบเทียบ ปีการศึกษา
2561 2562
เป้าหมาย 70 70
ผลการประเมิน 62.78 65.89
จากตารางที่ 1 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษ รหัสวิชา อ12101
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านมือและห์ ตั้งแต่ปี 2561 2562 ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าโดยธรรมชาติของวิชาภาษาอังกฤษแล้ว ถือว่าเป็นวิชาที่นักเรียนไม่ค่อยให้ความสำคัญ เมื่อผนวกกับผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ และไม่มีการใช้สื่อที่มีคุณภาพ จึงส่งผลให้การเรียน
น่าเบื่อหน่ายและมองไม่เห็นความสำคัญ ผู้รายงานได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้รายงานพบว่าปัจจุบันได้มีการสร้างแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านสะกดคำ
ที่มีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก และพบว่าแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านสะกดคำช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ดังที่ สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2553 : 87 88) ได้กล่าวถึงข้อดีของการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนเป็นรายบุคคล โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความสามารถ ความสนใจ ตามเวลาและโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล แก้ปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน เพราะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และต้องการความช่วยเหลือของครูผู้สอนไม่มากนัก สร้างความมั่นใจและช่วยลดภาระของผู้สอน เพราะเอกสารประกอบการเรียนเตรียมไว้ครบจำนวนหน่วยการเรียนรู้ และจัดไว้เป็นหมวดหมู่ ทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ทันที เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง มีโอกาสฝึกการตัดสินใจ และการทำงานร่วมกับกลุ่ม และช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้รับความรู้แนวเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้วิจัยได้ดำเนินการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านสะกดคำ ชุด คำศัพท์น่ารู้คู่หูนักเรียน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านมือและห์
เพื่อพัฒนาวิธีการและส่งเสริมให้นักเรียนได้จดจำคำศัพท์ และนำไปใช้ในการเรียนในรายวิชาภาษาอังกฤษ และรายวิชาอื่น ๆ เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพ
การเรียนรู้ และช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น อีกทั้งได้สื่อที่ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ ไม่เบื่อหน่ายและเกิดความรู้พร้อมมีคุณธรรมจริยธรรม มีมารยาทที่ดี ในการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น