บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านตาดข่า
ผู้วิจัย นายทิตย์ณรงค์ มณีวัฒน์
สถานที่ โรงเรียนบ้านตาดข่า
ปีที่พิมพ์ 2564
………………………………………………………………………………………………………………………………………………
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนบ้านตาดข่า 2. เพื่อพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนบ้านตาดข่า โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ดำเนินการพัฒนา 2 รอบแต่ละวงรอบประกอบด้วยการวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาโดยแบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และแบบบันทึกสะท้อนผลการปฏิบัติงาน โดยมีผู้ร่วมวิจัย จำนวน 17 คน คือ ครูผู้สอน ของโรงเรียนบ้านตาดข่า สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2 กลุ่มประชากร ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายจำนวน 4 คน ครูผู้สอนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 4 คน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 คน และนักเรียน จำนวน 3 คน นำข้อมูลมาวิเคราะห์เนื้อหาสำคัญ จัดประชุมระดมความคิด เพื่อให้เกิดข้อสรุปแนวทางการพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนบ้านตาดข่า
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพและปัญหาในการบริหารจัดการของโรงเรียนบ้านตาดข่า พบว่า 1) ปัญหาในการบริหารงานวิชาการ ได้แก่ นักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สื่อการสอนในห้องเรียนเก่า มีสื่อการสอนน้อย ขาดแคลนสื่อ ควรสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำสื่อให้มากขึ้น เอกสารประจำชั้นเรียนข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน เน้นการเรียนการสอนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในชีวิตประจำวันได้ให้มากขึ้น 2) ปัญหาในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ คณะครูไม่มีส่วนในการตัดสินใจ ในการวางแผนอัตรากำลังทำให้ได้บุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน การส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรในการศึกษาดูงานค่อนข้างน้อย 3) ปัญหาในการบริหารงบประมาณ ได้แก่ บุคลากรในฝ่ายบริหารงานงบประมาณยังขาดประสบการณ์และความชัดเจนในการบริหารงานฝ่ายงบประมาณ การเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณค่อนข้างน้อย และ 4 ) ปัญหาด้านการบริหารทั่วไป ได้แก่ ห้องน้ำนักเรียนชำรุดทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และห้องน้ำไม่ค่อยสะอาด ห้องเรียนมีสภาพเก่า ไม่สวยงาม ไม่น่าอยู่ ไม่น่าเรียน โต๊ะเก้าอี้นักเรียนชำรุด และมีจำนวนไม่เพียงพอ สนามเด็กเล่นหน้าอาคารเรียนอนุบาล ไม่มีหลังคาบังแดดและกันฝน ในช่วงหน้าฝนก็เปียกชื้นกลัวเด็กลื่นล้ม บางทีแดดร้อนเด็กก็เล่นตากแดด สภาพทางเดินเข้าหน้าอาคารเรียน เป็นพื้นดินเวลาฝนตกทำให้ทางเดินเละไม่สะดวกในการเดินเข้าอาคาร อาคารก็สกปรก น้ำไหลเข้าในอาคารเพราะระบายน้ำไม่ทัน สวนหย่อมหน้าอาคารมัธยมไม่สวยงามและมีงูชอบมาอยู่ในบริเวณนั้น อาจเกิดอันตรายต่อนักเรียนและครูได้ เอกสารด้านระบบประกันคุณภาพภายในยังไม่เป็นระบบ เช่น การสรุปโครงการ แฟ้มมาตรฐานต่างๆ
2. ผลการพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนบ้านตาดข่า ผู้วิจัยได้ร่วมมือกับผู้ร่วมวิจัย ตั้งแต่ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต และการสะท้อนผล ผลการพัฒนา พบวา ครูมีความรูความเขาใจ เกี่ยวกับการพัฒนาการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น สามารถร่วมกิจกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมไดดีครบทุกขั้นตอน ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น อาคารและสถานที่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้มีความแข็งแรง น่าอยู่น่าเรียนน่าเชื่อถือ ห้องเรียนมีสื่อการสอนที่หลากหลายสวยงาม จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีจำนวนลดลง และเอกสารด้านระบบประกันคุณภาพภายในเป็นระบบสามารถเป็นแบบอย่างได้
3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม พบว่าผลที่เกิดจากการดำเนินงานการพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนบ้านตาดข่า ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการเปิดโอกาสให้คณะครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติงานทั้ง 4 ฝ่าย รับฟังความคิดเห็นของคณะครูในการกำหนดแนวทางการพัฒนางาน ผ่านการประชุม และการสะท้อนผล มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น และครูผู้สอนได้ใช้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนทำให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น สนใจเรียนมากขึ้น