ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติและเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร อีกทั้งภาษาไทยยังเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทยเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทำให้สามารถประกอบธุระกิจการงานและการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุขและเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของตนเองและในระดับประเทศชาตินอกจากนี้ภาษาไทยยังเป็นสื่อที่แสดงถึง
ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษในด้านวัฒนธรรมประเพณีและความเป็นอยู่โดยบันทึกไว้เป็นวรรณคดีและวรรณกรรมอันล้ำค่าจึงถือได้ว่าภาษาไทยจึงเป็นสมบัติของชาติที่ควรแก่การเรียนรู้และอนุรักษ์
สืบสานให้คงอยู่คู่กับชาติไทยตลอดไปอีกทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 22 กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ฉะนั้นครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นผู้ช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียนเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้
ของตนเอง (กระทรวงศึกษาธิการ . 2551: 28)
ภาษาไทยเป็นเครื่องมือใช้สื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและตรงตามจุดมุ่งหมาย
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดความต้องการและความรู้สึก การใช้ภาษาเป็นทักษะที่ผู้ใช้ต้องฝึกฝน
ให้เกิดความชำนาญไม่ว่าจะเป็นการอ่านการเขียนการพูดการฟังและการดูสื่อต่าง ๆ รวมทั้งต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษาเพื่อสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและใช้อย่างคล่องแคล่วหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ได้เห็นความสำคัญของการเรียนภาษาไทยจึงกำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยออกเป็น 5 สาระ ได้แก่ สาระที่ 1 การอ่าน
สาระที่ 2 การเขียน สาระที่ 3 การฟัง สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย สาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งทุกสาระล้วนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร
ให้ผู้เขียนเลือกใช้คำเรียบเรียงความคิด ความรู้ให้ชัดเจน ใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักภาษา ใช้ถ้อยคำ
ให้ตรงความหมาย ถูกต้องตามฐานะและสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการเรียนสาระวรรณคดีและวรรณกรรม ผู้เรียนต้องเห็นความงดงามของถ้อยคำและคุณค่าในบทร้อยกรอง เข้าใจเรื่องราว
ในวรรณคดี ดังนั้น การอ่านบทร้อยกรองที่ไพเราะหรือการท่องบทอาขยาน ก็จะเป็นต้นทุนและพื้นฐานของการแต่งบทร้อยกรองในระดับที่สูงขึ้นและทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สังคมชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยอีกด้วย (กระทรวงศึกษาธิการ. 2552 : 9)
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับการอ่านและการเขียนนั้นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดให้นักเรียนต้องเรียนรู้ทักษะการอ่านและการเขียน สำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยให้บรรลุจุดประสงค์ของหลักสูตรและมีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กัน ทั้งทักษะการรับเข้ามา คือการอ่านหรือการฟังและทักษะ การถ่ายทอดออกไป คือการพูดและการเขียน โดยเฉพาะการอ่านและการเขียนเป็นทักษะที่มี
ความจำเป็นที่ใช้ในการรักษาและสื่อสารต่อโลกปัจจุบัน เป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารโลกของการศึกษา จึงมิได้กำหนดอยู่ภายในห้องเรียนเท่านั้น การอ่านและการเขียนจึงเป็นกระบวนการสำคัญยิ่ง
ในการ พัฒนาในยุคโลกไร้พรมแดน ส่วนการเขียนคำถือเป็นทักษะทางภาษาที่สำคัญเพราะเป็นการใช้สัญลักษณ์แทนการพูดเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด เรื่องราวต่าง ๆ และในเรื่องของการประสม
สระเสียงยาวมีความสำคัญต่อการอ่านและการเขียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพื้นฐานที่จำเป็นของ
การอ่านและการเขียนอย่างหนึ่งที่นักเรียนต้องรู้จักอ่านและเขียนให้ถูกต้องก่อน จึงจะสามารถเขียนประโยคและเรื่องราวได้ การอ่านและการเขียนคำที่ประสมสระเสียงยาว ยังเป็นพื้นฐานในการแสดงออก
ที่สำคัญในการเรียนการสอนเกือบทุกวิชาและในอ่านและเขียนการเขียนคำที่ถูกต้อง จะช่วยให้สื่อความหมายมีประสิทธิภาพถ้านักเรียนอ่านและเขียนคำผิด จะทำให้การสื่อความหมายผิดไปด้วยและส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่เป็นตามที่ประสงค์ การอ่านและการเขียนจึงสำคัญมาก
หากอ่านและเขียนโดยไม่ระมัดระวัง ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการถ่ายทอด ทำให้สื่อสารไม่ตรงตามวัตถุประสงค์มีผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน เพราะต้องอาศัยทั้งทักษะการอ่านและการเขียน
ในการจดบันทึกเขียนอธิบาย เขียนในแบบทดสอบ ถ้าอ่านและเขียนไม่ถูกต้องจะเป็นอุปสรรค
ในการถ่ายทอดความคิด ทำให้การเขียนนั้นสะดุด ต้องใช้เวลารวบรวมความคิดใหม่ ทำให้นักเรียน
เขียนหนังสือได้ช้า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นครูจึงต้องเน้นให้นักเรียน
ได้ฝึกฝนการอ่าน และการเขียนคำที่ประสมสระเสียงยาวอยู่เสมอ จนอ่านและเขียนได้ถูกต้องรวดเร็ว
เกิดความมั่นใจ สามารถนำเอาประโยชน์จากการอ่านและการเขียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
(ธนพร ดวงพรกชกร. 2559 : 2)
ด้วยความสำคัญดังกล่าว หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
ได้กำหนดให้ภาษาไทยเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง กระทรวงศึกษาธิการ (2551 : 37) แต่ยังพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านลิมุด (บุญชอบ สาครินทร์) ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ท11101
ปีการศึกษา 2561-2562 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านลิมุด (บุญชอบ สาครินทร์)
ข้อมูลเปรียบเทียบ ปีการศึกษา
2561 2562
เป้าหมาย 80 80
ผลการประเมิน 68.34 71.10
จากตารางที่ 1 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านลิมุด (บุญชอบ สาครินทร์) ตั้งแต่ปี 2561 2562 ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าโดยธรรมชาติของวิชาภาษาไทยแล้ว ถือว่าเป็นวิชาที่นักเรียนไม่ค่อยให้ความสำคัญ
เมื่อผนวกกับผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ และขาดการใช้สื่อที่มีคุณภาพ จึงส่งผลให้การเรียนน่าเบื่อหน่ายและไม่ตระหนักถึงความสำคัญของวิชานี้ ผู้รายงานได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้รายงานพบว่าปัจจุบันได้มีการสร้างแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำที่มีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก และพบว่าแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ดังที่ สุวิทย์ มูลคำ และ อรทัย มูลคำ (2556 : 57 58) ได้กล่าวถึงข้อดีของการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนเป็นรายบุคคล โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความสามารถ ความสนใจ ตามเวลาและโอกาส
ที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล แก้ปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน เพราะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียน
ได้ด้วยตนเอง และต้องการความช่วยเหลือจากครูผู้สอนไม่มากนัก สร้างความมั่นใจและช่วยลดภาระ
ของผู้สอน เพราะแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำ เตรียมไว้ครบจำนวนหน่วยการเรียนรู้ และจัดไว้เป็นหมวดหมู่ ทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ทันที เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง มีโอกาสฝึกการตัดสินใจ และการทำงานร่วมกับกลุ่ม และช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้รับความรู้แนวเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
จากเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมานั้น ผู้รายงาน จึงได้เล็งเห็นว่าหากนักเรียนได้รับการฝึกซ้ำบ่อย ๆ ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่ประสมสระเสียงยาว ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะสามารถช่วยแก้ปัญหาในการอ่านและการเขียนคำที่ประสมสระเสียงยาวที่นักเรียนอ่านและเขียนผิดบ่อย ๆ ได้และช่วยพัฒนาการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพและ
ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยสูงขึ้น