การพัฒนาการวัดและประเมินผลในรูปแบบออนไลน์
ผ่านทาง Google Meet / Google Forms
รายวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
1.ความสำคัญของผลงาน/นวัตกรรม
การปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2552 -2561) ได้ระบุเป้าหมายยุทธศาสตร์ให้คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ผนวกกับโลกของการศึกษาได้มีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้การศึกษาเปลี่ยนแปลงไป การจัดการศึกษาในศตวรรษนี้ ระบุว่าผู้เรียนควรเกิดความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญดังต่อไปนี้ประการแรกคือ สาระหลักและประเด็นสำคัญในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับโลก การเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการ การเป็นพลเมือง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ประการที่สองทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ได้แก่ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา และการสื่อสารและการร่วมมือ ซึ่งเป็นทักษะที่จะเป็นตัวกำหนด ความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่โลกการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ประการที่สามทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยีเนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อและเทคโนโลยีมากมาย ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้ด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และประการสุดท้าย คือ ทักษะชีวิตและการทำงาน
ดังนั้นการจัดการศึกษาในปัจจุบันควรตอบสนองต่อความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อทำให้ผู้เรียนสามารถบรรลุเป้าหมายเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่21 ซึ่งกระบวนการทางการศึกษาที่สำคัญที่ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย สามองค์ประกอบคือ จุดประสงค์การเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผลการเรียนการสอน ถ้าขาดองค์ประกอบใด หรือองค์ประกอบใดขาดความสมดุลกับองค์ประกอบอื่น ย่อมทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นกระบวนการที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมด
ซึ่งปัจจุบันนี้ในการจัดการเรียนการสอน เรากำหนดให้ทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เป็นส่วนหนึ่งของจุดประสงค์การเรียนการสอน อีกทั้งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะดังกล่าว และมีการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน เพื่อพิจารณาตรวจสอบความรู้ความสามารถ พฤติกรรม และทักษะการปฏิบัติของผู้เรียนว่าตรงตามทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่21 มากน้อยเพียงใด การประเมินทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องบูรณาการอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างแนบเนียบ และเหมาะสม ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่โดยตรงในการวัดและประเมินผลนั่นคือ ครูผู้สอนที่ต้องดำเนินการวัดและประเมินผลผู้เรียนทุกคน ขณะเดียวกันนับว่าเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพการสอนของครูผู้สอนด้วย ดังนั้นการดำเนินการวัดและประเมินผลควรคำนึงถึงความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น ความถูกต้อง ความเป็นธรรม และดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ผลการวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นในการพิจารณาว่าผู้เรียนเกิดคุณภาพการเรียนรู้ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้ จากประเภทของการประเมินโดยเฉพาะการแบ่งประเภทโดยใช้จุดประสงค์ของการประเมิน เป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภท จะเห็นว่า การวัดและประเมินผลการเรียนนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนแล้ว ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการการสอนของครู และเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนคุณภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย ดังนั้นครูและสถานศึกษาต้องมีข้อมูลผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งจากการประเมินในระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา และระดับอื่นที่สูงขึ้น
โรงเรียนวัดงิ้วราย(พินพิทยาคาร) เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาแนวทางการวัดและประเมินผลทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 นับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่และท้าทายสำหรับครูในปัจจุบันนี้ เนื่องจากคุณลักษณะที่จะวัดแตกต่างจากเดิมและวัดได้ค่อนข้างยาก ควรใช้หลักการวัดประเมินผลที่มีคุณภาพระดับสูง เน้นการนำประโยชน์ของผลสะท้อนจากการปฏิบัติของผู้เรียนมาปรับปรุงแก้ไข มีการสร้างความสมดุลในการประเมินผลเชิงคุณภาพ และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับการทดสอบวัดและประเมินผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ผู้บริหารและคณะครูจึงร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และออกแบบการวัดและประเมินผล ว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 จะจัดการวัดและประเมินผลในรูปแบบออนไลน์ โดยใช้โปรแกรมGoogle Meet /Google Forms ในการวัดและประเมินผลของนักเรียน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด