ชื่อเรื่อง รูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย
เพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1
ผู้วิจัย เสาวลักษณ์ สร้อยสวน
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์
ปีที่ทำวิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์องค์ประกอบของการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของ สถานศึกษา (2) สร้างรูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย
เพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา (3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และ (4) ประเมินรูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1
วิธีการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) วิเคราะห์องค์ประกอบ จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ผู้บริหารและครูผู้สอน จำนวน 386 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์หาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ 2) สร้างรูปแบบ โดยการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบตรวจสอบความเหมาะสมชนิดตรวจสอบรายการ โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา หาค่าความถี่ และค่าร้อยละ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบ โดยศึกษาจาก ครูผู้สอนระดับปฐมวัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 จำนวน 204 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินการนิเทศการสอนของครูผู้สอนระดับปฐมวัย ผลสรุปการรายงาน การประเมินตนเองของสถานศึกษา และผลการตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาแบบเข้มระดับการศึกษาปฐมวัย สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 4) ประเมินรูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย เพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา โดยศึกษาจากผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 จำนวน 151 คน ครูผู้สอนระดับปฐมวัย จำนวน 204 คน และศึกษานิเทศก์ จำนวน 13 คน รวม 368 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินรูปแบบ ลักษณะมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ 89 ตัวบ่งชี้
2. รูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ส่วนนำ ได้แก่ 1) หลักการพื้นฐาน และ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ ส่วนที่ 2 เนื้อหา ได้แก่ 2.1 ปัจจัยนำเข้า 2.2 กระบวนการ คือ ขั้นตอนการดำเนินงานขับเคลื่อนโดยใช้รูปแบบ พาทำ นำทาง สร้างสรรค์คุณภาพ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจ การร่วมพัฒนาค้นหานวัตกรรม การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การร่วมประเมิน การเผยแพร่สร้างขวัญกำลังใจ และการติดตามสานต่อ 2.3 ผลผลิต 2.4 ข้อมูลย้อนกลับ และ ส่วนที่ 3 เงื่อนไขความสำเร็จ
3. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย เพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 พบว่า 1) ครูผู้สอนระดับปฐมวัยมีผลการนิเทศ อยู่ในระดับดีมาก 2) สถานศึกษามีผลการรายงานการประเมินตนเองตามมาตรฐานการประกันคุณภาพ การศึกษาระดับปฐมวัย พ.ศ. 2561 ในภาพรวมทั้ง 3 มาตรฐานอยู่ในระดับดีเลิศ
4. ผลการประเมินรูปแบบการนิเทศห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย เพื่อพัฒนาการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านความถูกต้อง ด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด