ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเบตง
(สุภาพอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3
ผู้ศึกษา นายสุระวงศ คงมณี
สถานที่ทำงาน โรงเรียนอนุบาลเบตง(สุภาพอนุสรณ์) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเบตง(สุภาพอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนดำเนินโครงการ ระยะระหว่างดำเนินโครงการและระยะหลังสิ้นสุดโครงการ ประกอบด้วยการประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง คือ ครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียน ในปีการศึกษา 2563 จำนวน 97 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือ จำนวน 4 ฉบับ ลักษณะของคำถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. การประเมินบริบทโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( =4.30, S.D.=.16) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดได้แก่ ความเป็นไปได้ของโครงการ รองลงมาได้แก่ ความต้องการจำเป็นของโครงการ และความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับนโยบายทางการศึกษาและความต้องการของสังคม
2. การประเมินปัจจัยนำเข้าโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในภาพรวม มีความพร้อมในระดับมาก ( =4.26, S.D.=.14) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านมีความพร้อมอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดได้แก่ งบประมาณ รองลงมาได้แก่ บุคลากร สื่อและอุปกรณ์ และ สถานที่
3. การประเมินกระบวนการโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ( =4.22, S.D.=.12) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดได้แก่ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล รองลงมาได้แก่ การป้องกันและแก้ไขปัญหา การส่งเสริมพัฒนานักเรียน การคัดกรองนักเรียน และการส่งต่อ
4. การประเมินคุณลักษณะของนักเรียนในภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ( =4.26, S.D.=.14) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดได้แก่ นักเรียนสามารถเรียนได้ตามศักยภาพและมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และการทำงาน รองลงมาได้แก่ นักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมและนักเรียนมีความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับตนเอง