การพัฒนาทักษะการเขียนสะกดคำในภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกทักษะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ ๑ โรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน ผลการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ ปรากฏว่า ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนหลังการใช้แบบฝึกมีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างดียิ่ง ส่งผลให้มาตรฐานการเรียนรู้ภาษาไทยมีระดับสูงขึ้น เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑. ชุดฝึกการเขียนสะกดคำในภาษาไทยเพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสะกดคำ มีความเหมาะสมมากที่สุด
๒. ความสามารถในการเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ หลังจากได้รับการฝึกทักษะได้ผลที่ดีขึ้นมากกว่าก่อนใช้แบบฝึก
๓. ความพึงพอใจต่อการใช้ชุดฝึกการเขียนสะกดคำในภาษาไทยอยู่ในระดับมาก - มากที่สุด
สรุปการวิจัย
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
๑. ในการสร้างชุดฝึกทักษะการเขียนสะกดคำของนักเรียน มีนักเรียน ๑๕ คน ได้คะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ มีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ ๖๕.๗๘
๒. การสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเขียนสะกดคำเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ พบว่าคะแนนความสามารถในการทำชุดฝึกทักษะการเขียนสะกดคำของนักเรียน นักเรียนได้คะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด ๑๕ คน จากจำนวนทั้งหมด ๑๕ คนและมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ ๙๓.๓๓
อภิปรายผล
จากผลการวิจัยพบว่านักเรียนทั้งหมด ๑๕ คน ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ มีคะแนนความสามารถในการทำชุดฝึกทักษะการเขียนสะกดคำผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
จากผลการวิจัยพบว่านักเรียนทั้งหมด คือ ๑๕ คน มีคะแนนการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเขียนสะกดคำผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ซึ่งคำในแบบทดสอบแต่ละคำ เป็นคำที่เคยใช้ในแบบฝึก การเขียนสะกดคำแล้ว แสดงว่าแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำสามารถทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ มีการพัฒนาทักษะการเขียนสะกดของคำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้วิจัยได้สร้างแบบฝึกทักษะโดยอาศัยข้อมูลที่เป็นปัญหาจากการสังเกตสภาพปัญหาในการเขียนสะกดคำของผู้เรียนจากการเขียนบันทึกในสมุดรักการอ่าน ประกอบกับการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์สร้างเป็นแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำทั้งหมด ๕ ชุด ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบฝึกที่มีการพัฒนาทักษะการเขียนสะกดคำของนักเรียนให้เป็นไปตามขั้นตอน อีกทั้งแบบฝึกยังมีรูปแบบที่น่าสนใจ ดึงดูดความสนใจของนักเรียนให้จดจ่ออยู่กับบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น และจากการเปรียบเทียบระหว่างคะแนนจากชุดฝึกการเขียนสะกดคำและคะแนนแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเขียนสะกดคำปรากฏว่านักเรียนทุกคนมีคะแนนเพิ่มขึ้น โดยทั้งแบบทดสอบและแบบวัดผลสัมฤทธิ์ใช้คำเดียวกันจำนวน ๒๐ คำ
ข้อเสนอแนะ
(๑) ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
๑. ครูควรมีการจัดลำดับเนื้อหาแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำให้มีความสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กตามลำดับขั้นการเรียน
๒. ครูควรศึกษาหลักจิตวิทยาและพัฒนาการของเด็กเพื่อการสร้างแบบฝึกทักษะที่สามารถพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการเขียนสะกดคำของนักเรียน
๓. ครูควรหากิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ที่ถาวร
(๒) ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป
๑. ควรมีการทำการวิจัยการพัฒนาทักษะการเขียนสะกดคำ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในโรงเรียนอื่น เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการทักษะการเขียนสะกดคำของนักเรียน
๒. ควรทำการวิจัยการพัฒนาทักษะการเขียนสะกดคำเพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นอื่นๆ
๓. ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเขียนสะกดคำ โดยเพิ่มตัวแปรอื่นๆ นอกเหนือจากผลสัมฤทธิ์ในการใช้แบบฝึกทักษะ เช่น ความคิดเห็นหรือเจตคติของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำ เป็นต้น