ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบ ITMEU MODEL วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง
เลขยกกำลัง เพื่อเสริมสร้างการคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย : นายภาณุวงศ์ วรรณศิริ
สถานศึกษา : โรงเรียนเมืองเตาวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีการศึกษา : 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ ITMEU MODEL วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง เพื่อเสริมสร้างการคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) ศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน 2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนและศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ดังนี้ 3.1) ศึกษาประสิทธิภาพด้านกระบวนการและผลลัพธ์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3.2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3.3) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้นและ 4. ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลองใช้รูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเมืองเตาวิทยาคม จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเพื่อนำรูปแบบไปใช้หาประสิทธิภาพ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเมืองเตาวิทยาคม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ แ เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ โดยผ่านการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ 7 คน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( =4.53; S.D.= 0.52) แสดงว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้มีคุณภาพและความเหมาะสมในระดับมาก 2) แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ เป็นแบบอัตนัยจำนวน 4 ด้านๆ 2 ข้อ รวม 8 ข้อ มีค่าความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง (CVI) เท่ากับ 1.00 มีค่าความยาก (p) ตั้งแต่ 0.35 - 0.76 ค่าอำนาจจำแนกราย ข้อ (D) ตั้งแต่ 0.44 - 0.97 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (α) เท่ากับ 0.87 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกราย ข้อ (B) ตั้งแต่ 0.35 - 0.96 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (rcc) เท่ากับ 0.87 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานด้วยสถิติ
t-test (Dependent Samples) และนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาสภาพปัญหาและเงื่อนไขด้านการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ครูผู้สอนในโรงเรียนยังไม่ให้ความสำคัญในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนจนประสบผลสำเร็จและนักเรียนส่วนมากยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้ ตามกรอบแนวทางการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ผู้เรียนต้องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งกิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนยังไม่มีความลุ่มลึกพอที่จะเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ให้บรรลุผล ครูไม่ได้สนับสนุนและเปิดโอกาสให้คิดหาแนวทางหรือแบบแผนการค้นหาคำตอบที่แตกต่างหลากหลายด้วยวิธีการแบบใหม่
2. การสร้างและทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสร้าง
ความคิดสร้างสรรค์ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีองค์ประกอบด้วย 1) หลักการ แนวคิด
ทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5)
หลักการตอบสนอง 6) ระบบสนับสนุน โดยประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ได้แก่
ทฤษฎี คอนสตรัคติวิสต์ กลวิธีเมตาคอกนิชั่น กลวิธีการแก้ปัญหา แนวคิดการสืบเสาะหาความรู้
และแนวคิดจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ ทั้งนี้ได้สังเคราะห์ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น ประกอบด้วย
1) ขั้นสร้างความสนใจและเชื่อมโยงประสบการณ์พื้นฐาน 2) ขั้นเผชิญปัญหาและบ่มเพาะความคิด
3) ขั้นวิเคราะห์ทางเลือกและค้นหาคำตอบ 4) ขั้นประยุกต์และปรับแบบแผนการคิด และ 5) ขั้นสรุป
และประเมินแบบแผนการคิดสร้างสรรค์
3. การศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.25/81.57
4. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับมาก