บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการนิเทศการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการนิเทศการเรียนการสอนภาษาไทย ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศ การเรียนการสอนภาษาไทย ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคามและ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการนิเทศการเรียนการสอนภาษาไทย ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นข้อมูลในปีการศึกษา 2562 จากโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้แก่ 1) โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร 2) โรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยาและ 3) โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ กลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่12 ระดับกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ จำนวน 9 คน ครูผู้สอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลมหาสารคาม จำนวน 5 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม จำนวน 203 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ กลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่12 ระดับกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ จำนวน 5 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร จำนวน 144 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test แบบ Dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการนิเทศการเรียนการสอนภาษาไทยในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคามพบว่าประเด็นพื้นฐานทุกด้าน ทั้งในด้านรัฐธรรมนูญ แผนพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาการศึกษา หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรสถานศึกษา มีความสอดคล้องเหมาะสมต่อการพัฒนารูปแบบการนิเทศการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียน
ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม
2. รูปแบบการนิเทศการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียน ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม มีชื่อว่า จีโปร - โอเอเอสพี (GPRO - OASP Model) โดยองค์ประกอบของรูปแบบ ประกอบด้วย หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการนิเทศ และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการนิเทศ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การประชุมสร้างความตระหนักกำหนดเป้าหมายในการพัฒนา (Goal Preobservation Reality Options) ขั้นที่ 2 การวางแผนก่อนการสาธิตการสอนร่วมกัน (Observation) ขั้นที่ 3 การปฏิบัติการสอน (Analysis and Strategy) ขั้นที่ 4 การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ (Supervision Conference) และขั้นที่ 5 การพัฒนาที่ยั่งยืน (Postconference Analysis) ผลการตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความสอดคล้องของรูปแบบ พบว่า รูปแบบจีโปร - โอเอเอสพี (GPRO - OASP Model) ที่สร้างขึ้นมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความสอดคล้อง
3. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาไทย ในโรงเรียนสังกัดเทศบาล เมืองมหาสารคาม ของครูผู้รับการนิเทศ หลังการนิเทศสูงกว่าก่อนการนิเทศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อรูปแบบการนิเทศการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียน ในโรงเรียนสังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองมหาสารคาม อยู่ในระดับมาก
5. ผลการเรียนรู้การฟัง การดู และการพูด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม หลังการนิเทศสูงกว่าก่อนการนิเทศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01