ภาษาจีนเป็นภาษาที่เริ่มมีบทบาทในการเรียนการสอนในระดับต่างๆ ของประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ดังนั้นในปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทยจึงได้จัดการเรียนการสอนแผนการเรียนวิชาภาษาจีนขึ้น และบางโรงเรียนยังได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนวิชาภาษาจีนให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ภาษาจีนซึ่งไม่ใช่ภาษาประจำชาติจึงทำให้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับนักเรียนมีปัญหาและอุปสรรคตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟัง พูด อ่าน เขียน การจำคำศัพท์ การแปลความหมายของนักเรียน
การเขียนอักษรจีนถือว่าเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่สำคัญอีกวิธีการหนึ่ง ผู้เรียนจะสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนภาษาจีนได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนเขียนอักษรจีนได้ถูกต้อง จากการสังเกตนักเรียนในชั้นเรียนของผู้วิจัย พบว่าผลที่นักเรียนไม่ประสบผลสำเร็จในการเขียนลำดับขีดตัวอักษรภาษาจีนนั้น เนื่องจากว่าผู้เรียนรู้สึกว่าตัวอักษรจีนมีความซับซ้อน เขียนยาก ทำให้ส่วนใหญ่มักท้อถอยในการฝึกฝน ฝึกเขียนน้อย ไม่สนใจท่องจำหลักการเขียนที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นครูผู้สอนควรเน้นการฝึกเขียน ตั้งแต่พื้นฐานคือ ให้นักเรียนรู้จักเส้นพื้นฐานที่ใช้เขียนบ่อย การเขียนแยกเส้นต่างๆพร้อมทั้งชื่อเรียกและหลักการง่ายๆในการเขียนตัวอักษร โดยควรทำแบบฝึกที่มีสีสันหรือหากลวิธีที่สนุกสนาน ดึงดูดให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะฝึกเขียน และชื่นชมเมื่อผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
จากการศึกษาปัญหาการเขียนอักษรจีนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 36 คน โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ ช่วง 2 สัปดาห์แรกของภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนจำนวน 36 คนนั้นสามารถจำแนกความสามารถในการเขียนอักษรจีน จากการทำแบบทดสอบวัด การเขียนได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้คือ
1. กลุ่มเขียนถูก สวยงาม เป็นระเบียบ รวดเร็วคล่องแคล่ว มีจำนวน 24 คน
2. กลุ่มเขียนถูกบ้าง ผิดบ้าง คล่องแคล่วแต่ยังเขียนไม่ค่อยสวย มีจำนวน 6 คน
3. กลุ่มเขียนไม่ค่อยได้ เขียนผิดมาก ไม่สวยงามเป็นระเบียบและเชื่องช้า มีจำนวน 6 คน
โดยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้เกมและแบบฝึกทักษะการเขียนตัวอักษรจีนเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนตัวอักษรจีน เพื่อฝึกให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้เขียนตัวอักษรจีนได้ถูกต้องและมีผลสำฤทธิ์ทางการเรียนมากยิ่งขึ้น