ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว โรงเรียนเฉลียงพิทยาคม
ชื่อผู้รายงาน นายรวีวัฒน์ วุฒิไชยา ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเฉลียงพิทยาคม
คำสำคัญ การประเมินโครงการ/ ศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว
ปีที่รายงาน 2564
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว โรงเรียนเฉลียงพิทยาคม ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว โรงเรียนเฉลียงพิทยาคม 8 ด้าน คือ 1) เพื่อประเมินด้านบริบทของโครงการ 2) เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการของโครงการ 4) เพื่อประเมินด้านผลผลิตของโครงการ 5) เพื่อประเมินด้านผลกระทบของโครงการ 6) เพื่อประเมินด้านประสิทธิผลของโครงการ 7) เพื่อประเมินด้านความยั่งยืนของโครงการ และ 8) เพื่อประเมินด้านการถ่ายโยงความรู้ของโครงการ โดยใช้วิธีการประเมินของ Daniel L. Stufflebeam รูปแบบการประเมินแบบ CIPPIEST Model กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ครู จำนวน 18 คน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 3 คน นักเรียน จำนวน 170 คน นักเรียนมัคคุเทศก์น้อย จำนวน 6 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 171 คน และผู้นำชุมชน จำนวน 3 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และประเด็นการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ(%) ค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมินพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว โรงเรียนเฉลียงพิทยาคม ในภาพรวม พบว่า โครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาผลการประเมินเป็นรายด้าน พบว่า ด้านบริบทมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ด้านผลกระทบ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านประสิทธิผล ด้านถ่ายโยงความรู้ ด้านความยั่งยืน ด้านผลผลิตและด้านกระบวนการ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า โครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ โครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ความเหมาะสมของอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมในการจัดกิจกรรม
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ขั้นตอน ด้านกระบวนการที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ขั้นวางแผนการดำเนินงาน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การร่วมกันกำหนดกิจกรรมและแนวทางการจัดกิจกรรม
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ย มากที่สุด คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. ผลการประเมินด้านผลกระทบ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มี ค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ผู้บริหารและครูได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองและชุมชน
7. ผลการประเมินด้านประสิทธิภาพ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
8. ผลการประเมินด้านความยั่งยืน พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มี ค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การจัดทำห้องศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว
9. ผลการประเมินด้านถ่ายโยงความรู้ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การบูรณาการเนื้อหากับรายวิชาที่เกี่ยวข้อง