ชื่อผลงานทางวิชาการ การพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษาโดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
แบบมีส่วนร่วม โรงเรียนห้วยลึกผดุงวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด
นครราชสีมา
ผู้วิจัยและพัฒนา นายสกุลพงศ์ โชคศิริชัยภักดิ์
ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนห้วยลึกผดุงวิทยา
ปีการศึกษาที่พัฒนา ปีการศึกษา 2562 - ปีการศึกษา 2564
หน่วยงานต้นสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาโดยการวิจัย เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนห้วยลึกผดุงวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของระบบการบริหารจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ปัญหา ความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริง (2) เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา โรงเรียนห้วยลึกผดุงวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐานที่ได้เพื่อมากำหนดแนวทางการพัฒนาระบบ และกำหนดองค์ประกอบของระบบ (3) เพื่อศึกษาผลการใช้ระบบโดยการนำระบบการบริหารจัดการศึกษาไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นผลจากการนำระบบการบริหารจัดการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในสภาพการณ์จริง (4) เพื่อประเมินและปรับปรุงระบบ ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินผลหลังจากนำระบบการบริหารจัดการศึกษาไปใช้เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะต่าง ๆ สำหรับนำไปใช้ปรับปรุงองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบในส่วนที่ยังพบข้อบกพร่อง โดยดำเนินการวิจัยในลักษณะการวิจัยและพัฒนาโดยประยุกต์ใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) โดยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ในการดำเนินการดังกล่าวผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบสอบถาม แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของระบบการบริหารจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง พบว่า
สภาพปัจจุบันครูและบุคลากรทางการศึกษา ต่างคนต่างทำงาน ขาดการปรึกษาหารือเพื่อการทำงานร่วมกัน การปฏิบัติงานในแต่ละงานขาดการวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ขาดการสื่อสารกัน การพรรณนาบทบาทหน้าที่ขาดความชัดเจน จึงเกิดปัญหาการปฏิบัติที่ก้าวก่ายกัน ผู้บริหารสถานศึกษายังกำกับติดตามงานไม่ต่อเนื่อง หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้างานยังไม่มีภาวะผู้นำในการที่จะนิเทศบุคคลหรืองานได้ การประเมินผลการทำงานทุกงานและรายงานผู้บริหารสถานศึกษายังมีการปฏิบัติในระดับน้อย การนำหลักการบริหารจัดการศึกษาโดยการนำวิธีการเชิงระบบมาใช้พบว่าคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในด้านแนวคิดหลักการการบริหารเชิงระบบ บทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บุคคลที่เป็นกลไกสำคัญที่สุดคือผู้บริหารสถานศึกษา รองลงมาคือครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ยังขาดการร่วมคิดร่วมทำ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาน้อย ดูแลได้แต่เพียงการเรียนและพฤติกรรมของนักเรียนเท่านั้น องค์ประกอบหลักของการพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษา ส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีขั้นตอนหลัก ๆ คือ การวางแผนดำเนินการ ดำเนินการบริหารจัดการศึกษา ตรวจสอบการบริหารจัดการศึกษาและปรับปรุงการดำเนินการบริหารจัดการศึกษา ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ คน ระบบและการบริหารจัดการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน
2. การพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษาโดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนห้วยลึกผดุงวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นลักษณะการจัดองค์ประกอบตามแนวคิดเชิงระบบในการมองภาพงานวิจัยให้ชัดเจนขึ้นโดยจัดในกรอบความคิดด้านตัวปัจจัย (Input) ได้แก่ ระบบบริหารจัดการศึกษาเดิม ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คน ระบบ การจัดการ และบริบทสถานศึกษา ด้านกระบวนการ (Process) ได้แก่ การพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษาโดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมและมีการประเมินเชิงปฏิบัติการเป็นกลไกควบคุม (Control) ด้านผลผลิต (Output) คือ ระบบการบริหารจัดการศึกษาใน 3 ด้านคือ (1) ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา (2) ด้านการเรียนการสอน (3) ด้านการพัฒนาอาคารสถานที่ บรรยากาศและแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน และประเมินผลระบบที่พัฒนาขึ้น ส่วนข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) จะเป็นการตรวจสอบในแต่ละส่วนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนา นอกจากนี้ยังได้ศึกษาด้านผลลัพธ์ (Outcomes) ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบด้วย ได้แก่ ผลที่เกิดกับผู้เรียน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็น
วงจร 4 ระบบ ได้แก่ ระบบวางแผน(Plan) ระบบปฏิบัติการ(Act) ระบบติดตามตรวจสอบ(Observe) และระบบสะท้อนผล (Reflect)
3. ผลการศึกษาการใช้ระบบโดยการนำระบบการบริหารจัดการศึกษาไปสู่การปฏิบัติจริง ด้านความเป็นประโยชน์ พบว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นมีประโยชน์ในการนำไปใช้บริหารจัดการศึกษา ด้านความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงานจริง พบว่า มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงานจริงเพราะได้นำลงสู่การปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จ ด้านความเหมาะสม พบว่า ระบบมีความเหมาะสม ด้านความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล พบว่า มีความถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ เพราะร่วมกันตรวจสอบหลายด้าน ด้านผลที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ได้รับประโยชน์จากการนำระบบการบริหารจัดการสู่การปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม ในด้านความพึงพอใจ พบว่า ทุกฝ่ายมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการศึกษา เพราะการนำวิธีการเชิงระบบมาใช้ในการบริหารจัดการศึกษาทำให้การพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษามีเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา มีกระบวนการพัฒนาที่เป็นระบบแบบแผน ผู้ปฏิบัติมองเห็นกระบวนการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน
4. ผลการประเมินและปรับปรุงระบบ จากการสัมภาษณ์ พบว่า ด้านการเปลี่ยนแปลงที่การบริหารจัดการศึกษาทำให้เป้าหมายในการปฏิบัติงานชัดเจน เนื่องจากมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ด้านประโยชน์ของระบบทำให้เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม มีการประสานงานและร่วมมือกันทำงานทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการศึกษา ด้านความพึงพอใจ ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด และมีปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จของการบริหารจัดการศึกษาในด้านการวางระบบ การทำตามระบบ การตรวจสอบและประเมินผลระบบและการแก้ไขพัฒนาระบบ และจากแบบสอบถามถามมาตราส่วนประมาณค่า พบว่า ในการดำเนินงานทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านการเรียนการสอนและด้านการพัฒนาอาคารสถานที่ บรรยากาศและแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน มีผลการดำเนินงานโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านทั้ง 4 ด้าน คือ (1) ด้านปัจจัย(Input) (2) ด้านกระบวนการ(Process) (3) ด้านผลผลิต (Output) และ (4) ด้านผลลัพธ์ (0utcome) มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด